“บูทิค คอร์ปอเรชั่น” โดยความร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา น่าน”
ชูธงเข้ารับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดกัญชาและใบอนุญาตปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัย
“บูทิค คอร์ปอเรชั่น” จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (RMUTL) โดยความร่วมมือและสนับสนุนด้านการเพาะปลูกกัญชาร่วมกับ บีสโปค ไลฟ์ ไซเอนซ์ จำกัด (“บีสโปค”) ภายใต้บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บูทิค”) หรือ BC ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ใบอนุญาตจาก อย. ดังกล่าว ทำให้สามารถนำเข้าสายพันธุ์กัญชาได้ถึง 41 สายพันธุ์ จำนวน 398 เมล็ด และปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัย คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดที่จะพัฒนามาเป็น “สายพันธุ์ต้นแบบ” เพื่อใช้สำหรับการปลูกกัญชาต่อไป จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่งคือแพทย์แผนไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบูทิคที่จะเปิดตัวศูนย์สุขภาพแบบดั้งเดิมของไทยโดยมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์กัญชาในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
บีสโปค และ RMUTL ได้ทำการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และจับมือเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ได้มีการยื่นขอใบอนุญาตการนำเข้าและการปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนากับทางอย. และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ได้มีการตรวจสอบศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาในร่มแบบทันสมัยที่จังหวัดน่านอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการอนุมัติของอย.
นาย ปรับ ทักราล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทางเรามีความยินดีและตื่นเต้นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (RMUTL)ในฐานะพันธมิตรของเรา ได้รับใบอนุญาตจาก อย. นี่ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายของบูทิคในการพัฒนาศูนย์สุขภาพแห่งอนาคต ซึ่งรวบรวมผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ด้านสุขภาพจากกัญชาแบบดั้งเดิมของไทยออกสู่ตลาดผู้บริโภค ตลอดจนโครงการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ของบูทิคอีกมากมาย
โดยเรายึดมั่นในความร่วมมือกับ RMUTL เป็นส่วนสำคัญ และจะดำเนินการอย่างขยันขันแข็งในขั้นต่อไปของการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มั่นใจว่าเราเลือกสายพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดสำหรับการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของเรา เช่นเดียวกับความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของบูทิคในการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชงและกัญชาทางการแพทย์ เรามีจุดมุ่งหมายที่จะขยายขีดความสามารถในการเพาะปลูกกัญชาในปี 2565 เพื่อตอบสนองความต้องการของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกัญชา และเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของเรา รวมถึงการสนับสนุนการแพทย์แผนไทยอีกด้วย”
ดร. สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตจากอย. อย่างเป็นทางการ และหวังว่าจะมีการวิจัยและพัฒนาในขั้นต่อไปร่วมกับทีมบีสโปค โดย RMUTL จะดูแลกระบวนการวิจัยและพัฒนาของทั้ง 41 สายพันธุ์กัญชาที่นำเข้ามา และจะจัดหาทรัพยากรทางพันธุกรรมที่มีคุณค่าสำหรับโครงการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์กัญชาในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของสาธารณชน พร้อมกับเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนของเรา เพื่อขยายและต่อยอดสาขาการศึกษานี้ต่อไป”