ประเทศไทยโด่งดังอีกครั้ง หลัง นสพ.นิคเคอิ ของญี่ปุ่น จัดทำดัชนีฟื้นตัวจากโควิด-19 ปรากฎว่าไทยอยู่เกือบท้ายตาราง จาก 120 ประเทศ ขณะที่ ธปท.กังวล การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ก่อนโควิด-19 ได้ คือช่วงไตรมาส 1/66 จากลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี
หนังสือพิมพ์นิกเคอิจัดทำดัชนีฟื้นตัวจากโควิด-19 ไทยติดอันดับเกือบท้ายตาราง 118 จากกว่า 120 ประเทศและดินแดน ต่ำสุดในอาเซียน ดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่หนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่นจัดทำขึ้น วัดจากกว่า 120 ประเทศ/ดินแดน อันดับสูงหมายถึง ประเทศ/ดินแดนนั้นใกล้ฟื้นตัวเต็มที เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วต่ำ อัตราการฉีดวัคซีนดี และ/หรือมาตรการรักษาระยะห่างเข้มงวดลดลง
ทั้งนี้ ไทยอยู่ในอันดับ 118 คะแนนรวม 26 คะแนน ต่ำกว่ามาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 114 คะแนนรวม 29 คะแนน อินโดนีเซีย อันดับ 110 (31 คะแนน) ฟิลิปปินส์ อันดับ 108 (32 คะแนน) เวียดนามและกัมพูชาครองอันดับ 100 ร่วมกัน (34 คะแนน) ลาว อันดับ 66 (48 คะแนน) ที่สุดของอาเซียนคือ สิงคโปร์ อันดับ 12 (65 คะแนน) ส่วนที่หนึ่งของตารางตกเป็นของ จีน 76.5 คะแนน ตามด้วย มอลตา (76 คะแนน) อันดับ 3 โปแลนด์ (69 คะแนน) อันดับ 4 อิตาลี (68 คะแนน) อันดับ 5 ออสเตรีย (67.5 คะแนน)
ที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยในวารสารพระสยาม ของ ธปท. ฉบับเดือนพ.ค.-มิ.ย. 64 ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ก่อนโควิด-19 ได้ คือช่วงไตรมาส 1/66 ซึ่งเป็นผลจากลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปีขึ้นไปกว่าจะฟื้นตัวได้เท่าก่อนโควิด
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการเป็นแบบปูพรม แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การช่วยเหลือแบบปูพรมทุกคนอาจไม่เหมาะสม และอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว ดังนั้น การช่วยเหลือแบบเจาะจงสำหรับผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือนั้นจะมีความเหมาะสมมากกว่า