บล.โกลเบล็ก :
กำไร 1Q64 ดีกว่าคาดและปี 64 เป็นปีทองของบริษัทฯ
รายงานกำไร 1Q64 ที่ 83 ลบ. เติบโต 252%QoQ และ 442%YoY
ปี 64 ภาครัฐเตรียมงบประมาณราว 2.58 หมื่นลบ.เพื่อจัดซื้อเวชภัณฑ์
ปรับเพิ่มประมาณการปี 64 ขึ้น 62%จาก 115 ลบ. สู่ 186 ลบ.
คงคำแนะนำ “ถือ” แม้ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมสู่ 8.70 บาท
ประเด็นสำคัญในการลงทุน :
รายงานกำไร 1Q64 ที่ 83 ลบ. เติบโต 252%QoQ และ 442%YoY : บริษัทมีรายได้ 551 ลบ. +64%QoQ และ +110%YoYโดยได้แรงหนุนจากการส่งมอบเครื่องฉายรังสี 2 เครื่องมูลค่ารวม 355 ลบ. ขณะที่รายได้จากโรงพยาบาลอยู่ที่ 18.3 ลบ. +50%QoQ เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเครื่องฉายรังสีเพิ่มขึ้นหลังบริษัทร่วมรักษาโครงการ 30 บาทเพื่อขยายตลาด ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 22.1% เพิ่มจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย
ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวลงจาก 19.7 ลบ.สู่ 15.5 ลบ.เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานจึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าไตรมาสอื่น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิใน 1Q64 ที่ 83 ลบ. +252%QoQ และ 442%YoY และคิดเป็น 72% ของประมาณการเดิมที่ 115 ลบ.
ปี 64 ภาครัฐเตรียมงบประมาณราว 2.58 หมื่นลบ.เพื่อจัดซื้อเวชภัณฑ์ : กระทรวงสาธารณสุขเผยงบประมาณปี 64 ได้จัดสรรเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ ใช้ในการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ควบคุมป้องกันโรคให้บุคลากรและผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 อยู่ที่ 25,825 ลบ.
โดยล่าสุดมีการจัดสรรไปแล้ว 13 โครงการ วงเงิน 17,610.48 ล้านบาท ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุข, ค่าตอบแทน อสม./อุปกรณ์ห้องแยกโรค พัฒนาระบบบริการสุขภาพ จัดซื้อชุด PPE, Isolation Gown N 95 Mask วัคซีนโควิด 19 วัสดุควบคุมป้องกันโรค เครื่องฉายรังสีรักษา พัฒนาห้องปฏิบัติการ/เครื่องมือ/คุณภาพวัคซีน และค่าปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นอกจากนี้ในปี 64 ภาครัฐมีนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่” ซึ่งเตรียมจัดซื้อเครื่องฉายรังสี 7 เครื่องมูลค่ารวม 898 ลบ. สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง
ปรับเพิ่มประมาณการปี 64 ขึ้น 62%จาก 115 ลบ. สู่ 186 ลบ. : เราปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรสุทธิปี 64 จาก 2.2 พันลบ. และ 115 ลบ. สู่ 2.8 พันลบ. และ 186 ลบ. เติบโต 267%YoY และ 319%YoY ตามลำดับ โดยรายได้ดังกล่าวมี Backlog รองรับแล้ว 2 พันลบ. (รายได้ 1Q64 อยู่ที่ 550 ลบ.) ที่คาดว่าจะส่งมอบภายในปี 64 ซึ่งแสดงตามตารางด้านล่าง และมีรายได้จากการบริการและโรงพยาบาลอีกราว 270 ลบ. รวมถึงเราปรับเพิ่มสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจาก 11.5% สู่ 12.9% เนื่องจากบริษัทส่งมอบงานได้ตามกำหนดทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นของเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตรอนของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นงานขนาดใหญ่มูลค่าราว 1 พันลบ.จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม
ขณะที่เราคงประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 93 ลบ. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง ปี 62-63 ที่ 66 ลบ. ทั้งนี้ เราคงประมาณการรายได้และกำไรปี 65 ที่ 1.13 พันลบ.และ 97 ลบ. หดตัว 49% และหดตัว 15% ตามลำดับ เนื่องจากไม่มีการส่งมอบงานขนาดใหญ่มูลค่า 1 พันลบ.เหมือนปี 64
คงคำแนะนำ “ถือ” แม้ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมสู่ 8.70 บาท : เราประเมินมูลค่าด้วยวิธี SOTP โดยได้ราคาเหมาะสมธุรกิจติดตั้งเครื่องฉายรังสีปี 64 ที่ 8.37 บาทเพิ่มขึ้นจาก 3.63 บาทตามการคำนวณ P/E ratio เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีและปรับลด 1 S.D. เพื่อให้สะท้อนถึงการส่งมอบงานใหญ่ซึ่งไม่ใช่ภาวะปกติในการดำเนินงานของบริษัท ได้ค่า P/E ratio เพิ่มขึ้นจาก 12.5 เท่าสู่ 18.2 เท่า และประเมินราคาเหมาะสมโรงพยาบาลมะเร็งอีก 0.33 บาท (อิง PBV 1 เท่าเนื่องจากยังมีผลขาดทุนจากส่วนที่บริษัทถือหุ้น 65%) ได้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 64 ใหม่รวม 8.7 บาทเพิ่มขึ้นจาก 3.96 บาท โดยราคาหุ้นล่าสุดสูงกว่าราคาเหมาะสมที่ประเมินได้แต่ด้วยคาดการณ์ผลประกอบการปี 64 ที่โดดเด่น และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงถึง 4.0% (สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของ MAI ที่ 2.6%) เราจึงคงคำแนะนำ “ถือ”