เดินเกมรุกครึ่งปีหลัง ลุ้นรับโปรเจกต์ใหม่
บมจ. แอดเทค ฮับ (ADD) โรดโชว์แบบซุ่มเงียบ ดึงนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศเข้าลงทุนในหุ้น ADD แบบหัวบันไดไม่แห้ง ส่งผลให้ 2 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผนึกขายหุ้น Big-Lot ให้สถาบัน หวังเพิ่มฐานนักลงทุนสถาบัน – เพิ่มสภาพคล่อง ชูโอกาสการเติบโตรูปแบบส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) จากโอเปอเรเตอร์ สร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ที่สบช่องโตแบบมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต พร้อมส่งซิกดอดเจรจาโอเปอเรเตอร์ เพื่อพัฒนาบริการด้าน Digital Content Support และ Digital Solution เพิ่ม 2-3 โปรเจกต์ จ่อสรุปปิดดีลครึ่งปีหลังอย่างน้อย 1 ดีล เตรียมรับรู้รายได้ทันที พร้อมระบุปี 64 ตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 50 %
นายสมโภช ทนุตันติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท แอดเทค ฮับ จำกัด (มหาชน) หรือ ADD เปิดเผยว่า ภายหลังจากการให้ข้อมูล Roadshow กับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยอมรับว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจในรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของ ADD เป็นอย่างมาก จนเป็นที่มาของการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big-Lot Board) จำนวน 8,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ
โดยรายการดังกล่าวเกิดจากการขายหุ้นส่วนตัวของ นายสมโภช ทนุตันติวงศ์ และ นายเจนวิทย์ จิวะกุลชัยนันท์ รองประธานกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยเป็นการทำรายการขายให้กับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มฐานผู้ลงทุนประเภทสถาบัน รวมถึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์
สาเหตุที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน เนื่องจากเห็นว่า ADD มีศักยภาพในการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาและดูแลรักษาระบบสนับสนุนการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content Support) และให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Solution) ให้กับลูกค้าโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการทำงานให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ การชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตจากการขยายการให้บริการของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งการให้บริการของ ADD เปรียบเสมือนตัวกลางการให้บริการที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อและพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อจัดส่งคอนเทนต์ไปยังผู้บริโภคในยุคดิจิทัลให้เข้าถึงในการใช้ชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ กลุ่มนักลงทุนสถาบันยังเล็งเห็นว่า ADD มีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากภาพรวมของตลาด Digital Content ในประเทศ ณ ปัจจุบัน มีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน ทิศทางการเติบโตของโอเปอเรเตอร์ได้มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ Non-Voice และ Digital Content มากขึ้น หลังจากที่มีการให้บริการบนคลื่นความถี่ต่างๆ ทั้งในรูปแบบ 4G และ 5G หนุนให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Content ใหม่ๆออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้บริการ Digital Content ในรูปแบบการสมัครสมาชิก
ดังนั้น โอกาสการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนระบบการชำระเงินผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Carrier Billing) ที่โอเปอเรเตอร์พยายามให้ลูกค้าหันมาจ่ายค่าคอนเทนต์ผ่านซิมมือถือ โดยจะทำให้ได้ส่วนแบ่งจากผู้ผลิตคอนเทนต์ มากขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ ที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากโอเปอเรเตอร์เช่นกัน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต และจากปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นแรงหนุนให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้น ADD อย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ. แอดเทค ฮับ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจยังคงมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากระบบชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีการขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ เพื่อที่จะให้บริการด้าน Digital Content Support และให้บริการพัฒนาระบบ Digital Solution เพิ่มเติมอีก 2-3 โปรเจกต์ โดยเบื้องต้นคาดว่าดีลดังกล่าวจะเห็นความชัดเจนได้ภายในช่วงครึ่งปีหลังอย่างน้อย 1 โปรเจกต์ก่อน ซึ่งก็จะส่งผลให้บริษัทฯสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันทีในช่วงครึ่งปีหลัง และจะรับรู้เต็มปีในปี 2565 ส่วนโปรเจกต์อื่นๆจะทยอยทราบความชัดเจนในลำดับถัดไป อย่างไรก็ตาม สำหรับประมาณการอัตราการเติบโตของบริษัทฯในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% โดยอิงกับแนวโน้มการขยายตัวทางธุรกิจข้างต้น ผนวกกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม