สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย :

สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ
– ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันพุธที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน ด้วยการประกาศว่าจะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ (LSAP) ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.นี้เป็นต้นไป แต่ยังคงโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อการปล่อยกู้ (FLP) เอาไว้เช่นเดิม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ แต่นักวิเคราะห์ไม่ได้คาดว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะโครงการ LSAP ซึ่งมีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (7.218 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) การประกาศยุติโครงการ LSAP ของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ในช่วงเช้าวันพุธด้วย (Source: https://www.ryt9.com)

– กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นแตะระดับ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แถลงการณ์ของกระทรวงระบุว่า รายได้ของรัฐบาลกลางสหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นแตะ 3.05 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่รายจ่ายเพิ่มสู่ระดับ 5.29 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมาจากการจ่ายสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงานและโครงการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) เปิดเผยตัวเลขประมาณการในช่วงต้นเดือนก.ค.ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐในปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติเดิมที่ระดับ 3.13 ล้านล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทำเนียบขาวได้เปิดเผยข้อเสนองบประมาณมูลค่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับปีงบประมาณ 2565 ซึ่งทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรครีพับลิกันและผู้ตรวจสอบงบประมาณ (Source: https://www.ryt9.com)

– กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/2564 ของสิงคโปร์ ขยายตัว 14.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 11 ปี ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ขยายตัวแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวอย่างหนักเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ดี หากเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์หดตัว 2%
– (Source: https://www.ryt9.com)

MONEY MARKET
– ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาท วันพุธ (14 ก.ค ) เงินบาทวันนี้อ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯสอดคล้องกับค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่หลังรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมิถุนายนออกมาสูงเกินคาดและส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดขนาดมาตรการ QE รายเดือนลงในไม่ช้า

ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ฯต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 14 ก.ค.และคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพฤหัสที่ 15 ก.ค.

CAPITAL MARKET
-ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพุธ (14 ก.ค ) ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้นวันนี้หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯชี้ว่าจะยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากในช่วงนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 0.13%, ดัชนี S&P500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.12% และดัชนี Nasdaq ปิดลดลง 0.22%

-ตลาดหุ้นไทย วันพุธ (14 ก.ค ) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ลดลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลกหลังเมื่อคืนวันอังคารรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมิถุนายนออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะเริ่มลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในไม่ช้า ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 1.29 จุด

Analyst View
เงินบาทและค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันพุธที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกลดลง หลังสหรัฐฯรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดขนาดมาตรการ QE รายเดือนในไม่ช้า และขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจากนั้นหลังยุติมาตรการ QE

ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค.และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 5.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนพ.ค.หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานสูงขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค.และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8% หลังจากเพิ่ม 3.8% ในเดือนพ.ค.

- Advertisement -