รวมกัน 4 ราย ทุจริตทำให้ UWC เสียหาย
ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการและอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) (UWC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สกาย ทาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (STOWER) กับพวกรวม 4 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีทุจริตจากการขายเงินลงทุนในบริษัท ออสการ์ เซฟ เดอะ เวิลด์ จำกัด (OSCAR) บริษัทย่อยของ UWC เพื่อให้ตนเองหรือบุคคอื่นได้ประโยชน์ และทำให้ UWC เสียประโยชน์อันควรได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าบุคคล 3 ราย ซึ่งขณะเกิดเหตุในช่วงปี 2559 เป็นกรรมการและผู้บริหารของ UWC และ OSCAR ได้แก่ (1) นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง (2) นายพีรทัศน์ ธนรัชต์วัฒนา และ (3) นายมณฑล เชตุวัลลภกุล ได้ร่วมกันตัดสินใจและดำเนินการให้ UWC ขายเงินลงทุนใน OSCAR ที่ UWC ถือทั้งหมดร้อยละ 55 ให้แก่บริษัท ไทยนครพาราวู้ด จำกัด (TNP) ในราคา 66 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขายที่พิจารณาจากมูลค่าของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพียงฉบับเดียว ทั้งที่บุคคลทั้ง 3 ราย ทราบข้อเท็จจริงว่า OSCAR ได้รับ PPA เพิ่มอีกฉบับแล้ว และทราบว่าเมื่อ OSCAR มี PPA รวม 2 ฉบับ จะมีผลต่อมูลค่าขายของ OSCAR อย่างมาก
ต่อมาบุคคลทั้ง 3 รายข้างต้น ได้ร่วมกับ (4) นายมาโนชณ์ เหลืองวรพันธ์ ทำข้อตกลงขายเงินลงทุนทั้งหมดของ UWC ใน OSCAR ให้แก่ TNP ในราคา 66 ล้านบาท และได้นำเรื่องการขายเงินลงทุนดังกล่าวไปเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัท UWC โดยมิได้รายงานให้ทราบว่า OSCAR ได้รับ PPA ฉบับที่ 2 แล้ว ทำให้คณะกรรมการบริษัท UWC พิจารณาอนุมัติขายหุ้น OSCAR ให้แก่ TNP ในราคาตามที่เสนอมาดังกล่าว ซึ่งเป็นการตัดสินใจจากข้อเท็จจริงที่ OSCAR มี PPA เพียงฉบับเดียว ต่อมา UWC ได้โอนขายหุ้น OSCAR ให้แก่ TNP ซึ่งในวันเดียวกันนั้น TNP ได้นำหุ้น OSCAR ไปโอนขายต่อให้แก่บุคคลอื่นในราคาสูงกว่าที่ซื้อจาก UWC อย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับกรรมการ UWC ได้รับประโยชน์จากการขายหุ้น OSCAR โดยไม่มีเหตุอันควร
การกระทำของกรรมการและอดีตกรรมการและผู้บริหาร UWC กับพวก รวม 4 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นการร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ UWC ได้รับความเสียหายหรือขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ*ในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ