บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส :
ธุรกิจเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
คาดว่าในงวด 1Q64-65 จะเป็นขาดทุนสุทธิที่ -82 ล้านบาทแล้ว ในงวด 2Q64-65 มีโอกาสจะเกิดขาดทุนต่ออีก เพราะทางการยังมีมาตรการคุมเข้มโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ยังผลให้ประชาชนมีการใช้รถไฟฟ้า BTS น้อย การโฆษณาสื่อกลางแจ้ง BTS ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของรายได้ก็จะลดตาม เช่นเดียวกับรายได้VGI Digital Lab ที่ชะลอตัวลง ขาดทุนตามส่วนได้เสีย RLP ทรงตัว แต่ MACO ต่างประเทศยังไม่ดีนักทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย แม้มีKEX ช่วยค้ำจุน
  ปรับลดเชิงลบเป็นเต็มมูลค่า หลังปรับประมาณการลงมาก ธุรกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากมาตรการรัฐที่ไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ราคาพื้นฐานปรับลงตามเหลือเพียง 5.11 บาท (SOTP) ราคาปิดมี Downside 8%

คาด 1Q64-65 (เม.ย.-มิ.ย.64) เป็นขาดทุนลดลงจาก y-o-y เป็นขาดทุนสุทธิที่ -82 ล้านบาท เทียบกับ y-o-y ที่ -104ล้านบาท บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ขายโฆษณาในมือล่วงหน้า และผู้ซื้อจะต้องใช้ภายใน ก.ย.64 หรือในงวดครึ่งแรกของปีนี้สำหรับงวดบัญชีของบริษัท โดยทางบริษัทสามารถรับมือได้ดีกว่าปีที่แล้ว คือช่วง เม.ย.-มิ.ย.63 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการล็อกดาวน์ประเทศเต็มรูปแบบ แต่ในช่วง 1Q64-65 มีการล็อกดาวน์เพียงบางส่วน บริษัทจะใช้วิธีให้ลูกค้าจองโฆษณาก่อน(Early Bird) ในราคาที่ไม่สูง แต่จะไม่มีการให้เลื่อนโฆษณาได้ ทั้งนี้คาดว่ารายได้เพิ่มขึ้น 20% y-o-yอัตรากำไรขั้นต้น และสัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้ก็ดีขึ้น ยังผลให้บรรทัดสุดท้ายเป็นขาดทุนสุทธิที่ -82 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนน้อยลง -21% y-o-y แต่หากเทียบกับ q-o-q หรือ 4Q63-64 ที่เป็นกำไรสุทธิสูงถึง 359 ล้านบาท ซึ่งก็มีกำไรจากการขายหุ้น KEX ออกไปจำนวนมาก

แต่ในงวด 2Q64-65 (ก.ค.-ก.ย.64) มีโอกาสจะเกิดขาดทุนต่ออีก แม้จะล่วงมาถึงเพียงต้นเดือน ส.ค.64 ก็เพราะในช่วงเดือน ก.ค.64 มีการประกาศมาตรการเข้มงวดคุมเข้มโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดในโนโซนสีแดงเข้ม13 จังหวัด ซึ่งรวมถึง กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังผลให้ประชาชนที่มีการใช้รถไฟฟ้า BTS (Ridership) น้อย และแล้วเมื่อเริ่มเดือน ส.ค.64 ก็ขยายการใช้มาตรการต่ออีก 14 วัน และเพิ่มจังหวัดในโนโซนสีแดงเข้มไปเป็น 29 จังหวัด มาถึงปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยุติการใช้มาตรการลงได้เมื่อใด สำหรับการโฆษณาสื่อกลางแจ้ง BTS ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของรายได้ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเป็นสัดส่วนรายได้ 70% จากทั้งหมดก็จะลดตาม เช่นเดียวกับรายได้ด้าน Digital Services ที่เป็นสัดส่วนอีก 30% ซึ่งประกอบไปด้วย 1) VGI Digital Lab 70-80% และ 2) Rabbit 20-30% สำหรับ VGI Digital Lab ก็มีความต้องการใช้บริการที่ชะลอตัวลง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะที่ Rabbit Care ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการขายประกันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ประคองตัวไปได้

คาดว่ายังมีกำไรตามส่วนได้เสีย (Equity Income) งวดปีนี้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก สำหรับตลอดปีนี้คาดว่าจะเป็น 157ล้านบาท และปีถัดไปคือ 170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (FY63-64) ที่ 136 ล้านบาท สภาวะทางธุรกิจคือ ขาดทุนตามส่วนได้เสีย Rabbit Line Pay (RLP) เป็นทรงตัวโดยบริษัทไม่เน้นทำโปรโมชันมากแล้ว แต่ MACO ต่างประเทศยังไม่ดีนัก ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโฆษณาบนรถไฟฟ้า กำลังเจรจาเรื่อง Minimum Guarantee แต่เผชิญกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังรุนแรง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย

ส่วน MACO ไทยก็ยังดีที่ PLANB เริ่มใช้ Minimum Guaranteeให้กับ MACO แม้มีKerry Express ( KEX) ช่วยค้ำจุนทางด้านผลกำไร ซึ่งกำไรของ KEX ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่ KEX จะไม่ตัดราคาเข้าแข่งขัน เน้นทางด้านคุณภาพของการให้บริการ อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเสริมการให้บริการ เช่น การออกแบบให้สามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้นในรถบรรทุก 1 คัน เพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

ปรับประมาณการลงมาก ได้มีการปรับลดคาดการณ์กำไรหลักปี64-65Fและ 65-66Fในอัตราถึง -50% และ -52% ตามลำดับ รายการที่ปรับคือ
1) รายได้ปีนี้ และปี 65-66F ลดลงในอัตราปีละ -18.8% จากเดิมเป็น3.2/3.5 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยในงวดปีนี้เริ่มต่ำกว่าเป้ารายได้ของบริษัทซึ่งอยู่ในช่วง 3.5-4.0 พันล้านบาท สืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เป็นใจ และ
2) อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ และปี 65-66F ลดลงเป็น 34% และ 35% ตามลำดับถือว่าปรับลงมามากทีเดียว คือ นอกจากภาวะตลาดฯที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ราคาค่าโฆษณาไม่สูงแล้ว ปีนี้จะเริ่มครบกำหนดที่จะต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เพิ่มอีก 5% เริ่มตั้งแต่ พ.ค.64 นี้

การลงทุนใหม่ๆยังต้องใช้เวลาที่จะผลิดอกออกผล สำหรับ JV Rabbit Cash จะมีขาดทุนในช่วง 3 ปีแรก แต่เป็นขาดทุนที่ไม่มาก ซึ่งในช่วงระยะแรกต้องมีค่าใช้จ่ายในการฟอร์มทีมและอื่นๆ สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นคือ BSSH (บริษัทย่อยของ VGI) ถือหุ้นในสัดส่วน 77%, AEONTS 18% และ HUMAN 5% ตามลำดับ เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ภายใต้แบรนด์ “Rabbit Cash” มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท ส่วนการเข้าลงทุนในธุรกิจ E-Commerce ของ Fanslinkซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าจากประเทศจีน และเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง (OEM) คือ Pando Selection (SET) ก็จะให้ผลกำไรเข้ามายังบริษัทไม่มากนัก เราคาดในช่วงปีแรกๆอยู่ที่ราว 30-50 ล้านบาท

ปรับลดคำแนะนำเป็นเชิงลบคือ เต็มมูลค่า (Fully Valued) จากเดิมคือ ซื้อ หลังปรับประมาณการลงมาก ธุรกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากมาตรการรัฐที่ใช้ควบคุมโรค มีความไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ ที่ลุกลามมากสุดขณะนี้คือ DELTA จึงทำให้มีการปรับลด GDPไทยปีนี้ลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ธุรกิจโฆษณาก็จะอิงไปตามเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ หากพิจารณาตามค่า P/E ปี 64-65และ 65-66 ก็อยู่ในระดับที่สูงมากคือ 113.3 และ 94.1 เท่า ตามลำดับ

สำหรับราคาพื้นฐานปรับลงตามเหลือเพียง 5.11บาท (SOTP) ราคาปิดมีส่วนลด (Downside)8% สำหรับข้อดีคือ ปกติไตรมาส 3 ของบริษัทหรือในช่วง ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปีจะเข้าสู่ High Season ของการโฆษณา ต้องติดตามว่าปีนี้ยังจะดีอยู่หรือไม่ แต่ในประมาณการเราได้สะท้อนเรื่องนี้ไปส่วนหนึ่งแล้ว

- Advertisement -