บล.ทรีนีตี้:
ธนาคารไทยพาณิชย์ – SCB
ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ สร้างโอกาสเติบโต
- ปรับโครงสร้างจัดตั้ง SCBx เป็นบริษัทแม่และแลกหุ้นกับ SCB สัดส่วน 1:1
- จัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ และแยกบริษัทย่อยบางส่วนที่เป็น Growth Business ออกมา อยู่ใต้ SCBx เพื่อให้ไม่ถูกจำกัดด้วยเกณฑ์ธนาคาร สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ
- ตั้งเป้า 3-5 ปี ฐานลูกค้าและกำไรจะเติบโตสูง และนำบริษัทย่อยจดทะเบียน IPO
- มองการปรับโครงสร้างปลดล็อกทั้งในด้านการเติบโตและมูลค่า
- ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 139 บาท ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ”
SCB โครงสร้างใหญ่ ตั้ง SCBx เป็น Holding Company
SCB ประกาศจัดตั้ง SCBx เป็นบริษัทแม่ (Holding Company) และจะมีการแลกหุ้น (Share Swap) 1:1 ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้น SCB เดิม ที่เป็นธุรกิจธนาคารเปลี่ยนไปถือหุ้น SCBx ที่เป็นบริษัทแม่แทน และทำการ List หุ้นของ SCBx เเพื้อซื้อขายในตลาดฯ แทนที่ SCB ที่จะถูก Delist (คาดเกิดต้นปี 65) จากนั้นจะมีการจ่ายปันผลพิเศษจากกำไรของ SCB 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBx โดยราว 70% เป็นค่าใช้จ่ายในการโอนบริษัทย่อย และอีกราว 30% เป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น (คาดเกิดกลางปี 65) ซึ่งหากอิงตามราคาหุ้น SCB ล่าสุดคิดเป็น Div.Yield ราว 5.6%
ปลดล็อคทั้งการเติบโตและมูลค่า
การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้ SCB ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคาร ยังดำเนินการตามเดิมภายใต้ SCBx ซึ่งถือเป็นธุรกิจ Cash Cow เช่นเดียวกับธุรกิจประกัน และกองทุนรวม ขณะที่ธุรกิจอื่นที่มีโอกาสเติบโตจะแยกออกมาบริษัท ย่อยภายใต้ SCBx อาทิ Card X (ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่โยกมาจาก SCB Bank), AutoX (จัดตั้งใหม่ดำเนินงานแยกกลับ My Car My Cash ที่ยังอยู่ภายใต้ SCB Bank เพื่อทำธุรกิจรถแลกเงินที่เน้นในกลุ่มรากหญ้า), Alpha X (จัดตั้งใหม่ JV กับ MGC Group ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถหรู), SCB Securities (ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งจะไปเน้นในสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น), AISCB (JV ร่วมกับ ADVANC ปล่อยสินเชื่อดิจิตอล), Venture Capital ที่จัดตั้งร่วมกับ CP Group (ทำธุรกิจ Fintech เช่น Blockchain, Decentralized Finance), ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แยกออกมาจาก SCB Bank ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคาร และตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี จะนำบริษัทย่อยต่างๆ เข้าจดทะเบียน IPO ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกทั้งโอกาสในการเติบโตและมูลค่าของบริษัทย่อย
ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าและกำไร
บริษัทตั้งเป้าภายใน 5 ปี ข้างหน้า กลุ่มบริษัทจะมี (1) ฐานลูกค้าจากทั้ง ASEAN (ไม่เฉพาะธุรกิจสินเชื่อ แต่รวมถึงการใช้บริการ Platform ต่างๆ) ราว 200 ล้านคน (2) มี Market Cap รวมที่ 1 ล้านล้านบาท (3) กำไรเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และรายได้ราว 1 ใน 3 จะมาจากธุรกิจใหม่ (4) เป็นผู้นำในด้านสินทรัพย์ดิจิตอล (5) เป็นผู้นำในด้าน Tech/AI Data analytics
ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 139 บาท แนะนำ “ซื้อ”
เรามองว่าแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าว ปัจจัยที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจะมาจากการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เป็น Growth Business แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการประกาศเป้าหมายทางการเงินของแต่ละธุรกิจย่อย (ซึ่งบางส่วนเพิ่งเริ่มจัดตั้ง) แต่เราเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีมากขึ้น ในเบื้องต้นจึงปรับสมมุติฐาน Long-term Growth เป็น 6% (สูงกว่ากลุ่มฯ ที่ 5%) ทำให้ได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 139 บาท อิง PBV 1.1 เท่า พร้อมปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ”
ความเสี่ยง: การชะลอตัวของเศรษฐกิจ/ คุณภาพหนี้ที่แย่ลง