ปัจจัยต่างประเทศ: ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวลงแรงเมื่อคืน จากปัจจัยลบที่ทยอยเข้ามากระทบ sentiment ตลาด โดยปัจจัยกดดันแรกคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการประชุม FOMC สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุด Bond yield รุ่นอายุ 10 ปีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.55% จากแถวระดับ 1.3% ส่วนรุ่นอายุ 30 ปีมาอยู่ที่ระดับ 2.10% จากแถวระดับ 1.8%ซึ่งการที่ Bond yield ที่ปรับตัวขึ้นเร็วและแรงจะส่งผลกดดันตลาดหุ้นให้เกิดการปรับฐานระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเติบโตสูงที่คาดหวังกระแสเงินสดในอนาคตมากจะถูกกดดันหนักเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนการเจรจาร่างกฏหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันได้ขัดขวางร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐต้องปิดการดำเนินงานในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณ และรัฐบาลสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่อีกประเด็นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยรายงานข้อมูลการขยายตัวผลกำไรของบริษัทด้านอุตสาหกรรรมของจีนชะลอตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันในเดือนส.ค. รวมถึงวิกฤตพลังงานกำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลผลิตและผลกำไรของบริษัทจีนและอาจลุกลามส่งผลกระทบให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่องจาก supply disruption อย่างไรก็ตามการปรับฐานลงของตลาดหุ้นเป็นไปตามที่เราคาดว่า จากข้อมูลเชิงสถิติที่ตลาดหุ้นควรที่จะต้องมีการปรับฐานระดับ -5% เฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเดือนกันยายนที่เป็นเดือนที่ตลาดมักปรับฐานมากที่สุด ประกอบกับดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการปรับฐานแรงๆเลยแม้แต่ครั้งเดียว จึงยิ่งส่งเสริมให้ตลาดอ่อนไหวต่อปัจจัยลบได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นเรามองการที่ตลาดปรับฐานลงบ้างเป็นเรื่องที่ดีและยังมองว่าเป็น healthy correction และยังเป็นโอกาสในการทยอยสะสมลงทุน อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน อาจส่งผลกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ระยะสั้น

ปัจจัยภายในประเทศ: ธปท.หนุนรีไฟแนนซ์-รวมหนี้ ห้ามแบงก์คิดค่าโปะปิดบัญชี ออกมาตรการจูงใจต.ค.นี้ อย่างไรก็ตามกลุ่มธนาคารถูกเทขายทำกำไรลงมาเมื่อวาน หลังปรับตัวกันขึ้นมาเร็วและแรงจากข่าวการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB ขณะที่กลุ่ม Non-Bank โดยรวมที่ราคาปรับตัวลงหลังตลาดกังวลเรื่องสภาพการแข่งขันที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น หลัง SCB ปรับโครงสร้างและมีแผนจะเข้ามารุกตลาดในกลุ่มธุรกิจ Non-Bank มากขึ้น อย่างไรก็ตามเรามองว่ากลุ่ม Non-Bank แต่ละกลุ่มอาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน อย่างกลุ่มบริหารจัดการหนี้เสีย (AMC) เราคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัดและเร็วเกินไปที่นักลงทุนจะกังวลประเด็นนี้ เรามองว่าการที่แบงก์เข้ามาทำเป็นเรื่องยากเพราะยังเชื่อว่าแบงก์จะไปประมูลซื้อหนี้จากแบงก์อื่นยังเป็นไปได้ยาก ทำให้การปรับตัวลงมาจาก sentiment ลบระยะสั้นอาจเป็นโอกาสในการทยอยซื้อสะสมหุ้นกลุ่ม AMC ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าอาจช่วยหนุน sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออก

มุมมองตลาดหุ้น/ กลยุทธ์การลงทุน วันนี้คาด SET 1600 หุ้นแนะนำ TU

1) TU (ราคาพื้นฐาน 26.90 บาท) ปรับประมาณการกำไรสุทธิ 64-65 เพิ่มขึ้น 3-10% จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจำกัดจากราคาอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การ spin-off สองบริษัทย่อย TFM และ ITC จะช่วยปลดล็อคราคาหุ้นเพิ่มเติม ทั้งนี้เราคาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นสัดส่วน 19.3% ของ TFM ใน 4Q64 นอกจากนี้ดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าช่วยหนุน sentiment บวกต่อบริษัท

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันพุธ ติดตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือน ส.ค. คาด +0.17% YoY อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทย และการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท. คาดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน ก.ย. คาด -4 จุด (เทียบ -5.3 จุด เดือนก่อนหน้า) และถ้อยแถลงของ Fed Chair Powell และ ECB President Lagarde

วันพฤหัสฯ ติดตาม ตัวเลข Industrial Production เดือน ส.ค. ของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นคาด +8.5% YoY และ +9.5% YoY ตามลำดับ ตัวเลข NBS Manufacturing PMI และ Caixin Manaufacturing PMI ของจีนเดือน ก.ย. คาด 50.2 จุด และ 49.6 จุด ตามลำดับ อัตราการว่างงานของยูโรโซนเดือน ส.ค.คาด 7.5% ทรงตัว MoM ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯรายสัปดาห์คาด 3.25 แสนคน

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Tankan Large Manufacturers index Q3 ของญี่ปุ่นคาด 13 จุด (เทียบ Q2 ที่ 14 จุด) ตัวเลขส่งออก และนำเข้าของเกาหลีใต้เดือน ก.ย. คาด +17.5% YoY และ +26.6% YoY ตามลำดับ ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือน ก.ย. คาด +3.3% YoY ตัวเลข ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด 59.5 จุด ตัวเลข Construction Spending ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. คาด +0.3% MoM ตัวเลข Michigan Consumer Expectation เดือน ก.ย. คาด +3% MoM เป็น 67.1 จุด

- Advertisement -