ปัจจัยต่างประเทศ: สำหรับเดือนก.ย.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือว่าเป็นอีกรอบที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเป็นไปตามสถิติในอดีตที่ชี้ชัดว่าตลาดหุ้นมักจะปรับฐานในเดือนก.ย. ซึ่งดัชนีสำคัญของสหรัฐฯต่างปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ดัชนี Dow Jones (-4.3%), S&P500 (-4.8%), Nasdaq (-5.3%) จากความกังวลต่อประเด็นในจีนไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์, การขาดแคลนพลังงานส่งผลต่อภาคการผลิตของจีน, Dot plot ที่เปลี่ยนแปลงส่งผลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวสูงขึ้นเร็วและแรงกดดันตลาดหุ้น นอกจากนี้ล่าสุดรายงานตัวเลขการจ้างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานได้ชะลอตัวลง ขณะที่ความกังวลเงินเฟ้ออาจจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบและราคาถ่านหิน อาจทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่สภาวะ “Mini Stagflation” (เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังพุ่งสูงขึ้น) ความกังวลดังกล่าวจึงกดดันตลาดและสร้างความผันผวนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ติดตามตัวเลขการจ้างงานสำคัญในวันที่ 8 ต.ค. ที่จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและตัวเลขอัตราการว่างงาน ซึ่งจะบ่งบอกสภาพตลาดแรงงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปัจจัยภายในประเทศ: สำนักงานบริหารหนี้ สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปี งบประมาณ 2022 อยู่ที่ 1.1-1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปีงบประมาณก่อนหน้าภายใต้กรอบหนี้ สาธารณะใหม่ที่ 70% ต่อ GDP ส่งผลให้สบน. คาดการณ์หนี้สาธารณะไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2022 อยู่ที่ 62.69% ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่าปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอยู่ในช่วงอ่อนค่าจากความกังวลต่อกรอบหนี้ สาธารณะใหม่และปริมาณพันธบัตรที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปจากระดับนี้มากนัก เนื่องจากการกลับมาเปิดเมืองหลังสถาณการณ์โควิดที่ดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กลยุทธ์การลงทุน: จากนโยบายการเงินของ Fed ที่จะเริ่มผ่อนคลายน้อยลง ส่งผลให้สภาพคล่องจะเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลในอดีตพบว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่จะ outperform หุ้นขนาดเล็ก นอกจากนี้ระยะถัดไปที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการเริ่มกลับมาทยอยเปิดประเทศ น่าจะส่งผลสนับสนุนให้กลุ่มหุ้น Domestic play outperform หุ้นกลุ่ม Global play ทั้งนี้ให้ติดตามสถาณการณ์โควิดในประเทศและสถาณการณ์น้ำท่วมที่อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อคำแนะนำของเรา

มุมมองตลาดหุ้น วันนี้คาด SET 1600-1610 หุ้นแนะนำ ORI

1) ORI (ราคาพื้นฐาน 11.40  บาท) ธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงและรายงานผลประกอบการที่คาดว่าจะโดดเด่นเหนือคู่แข่งขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัท

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ  วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Tankan Large Manufacturers index Q3 ของญี่ปุ่นคาด 13 จุด (เทียบ Q2 ที่ 14 จุด) ตัวเลขส่งออก และนำเข้าของเกาหลีใต้เดือน ก.ย. คาด +17.5% YoY และ +26.6% YoY ตามลำดับ ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือน ก.ย. คาด +3.3% YoY ตัวเลข ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด 59.5 จุด ตัวเลข Construction Spending ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. คาด +0.3% MoM ตัวเลข Michigan Consumer Expectation เดือน ก.ย. คาด +3% MoM เป็น 67.1 จุด

- Advertisement -