ปัจจัยต่างประเทศ: สถิติในอดีตบ่งชี้ว่าเดือนตุลาคมมักจะเป็นเดือนที่มีความผันผวนสูง โดยถ้าเราพิจารณาดัชนี S&P500 ตั้งแต่ปี 1964-2020 พบว่าเดือน ต.ค. ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9% แต่หากไปดูผลตอบแทนปีที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ +16% ขณะที่ผลตอบแทนปีที่แย่ที่สุดอยู่ที่ -22% และมีค่า SD สูงที่ 6% ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่มีความผันผวนสูงที่สุดในบรรดา 12 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งจากสถาณการณ์ปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนรอความชัดเจนอยู่หลายประเด็นไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการขาดแคลนพลังงานในจีนและยุโรป, ประเด็นการพิจารณาร่างกฏหมายในสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของ Fed ดังนั้นเราคาดว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่เดือน ต.ค. จะมีความผันผวนสูง ขณะที่ความกังวลต่อประเด็น Evergrande ว่าจะส่งผลลุกลามต่ออุตสาหกรรมอื่นนั้นถึงขณะนี้ดูยังไม่น่ากังวลมากนัก เมื่อพิจารณาผ่านส่วนต่างผลตอบแทนของตราสารหนี้อัตราผลตอบแทนสูงที่อยู่นอกภาคอสังหาริมทรัพย์ (Non-property High Yield) ยังไม่ได้ปรับตัวเร่งสูงขึ้น (การปรับตัวเร่งสูงขึ้นจะสะท้อนถึงความเสี่ยงผิดนัดชำระที่สูงขึ้น) ดังนั้นประเด็นความเสี่ยง Evergrande รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจนถึงขณะนี้ยังไม่น่าจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นได้แก่ตัวเลขภาคการจ้างงานอย่างตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะรายงานในวันศุกร์ที่ 8 ต.ค. นี้

ปัจจัยภายในประเทศ: รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ก.ย. กลับมาเป็นบวก โดยอยู่ที่ 1.68%YoY (1.59%MoM) จากที่ติดลบ 0.02%YoY ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าคาดการณ์ที่ 0.52%YoY เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อาทิ ค่าสาธารณูปโภคและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง (+ 32.44%YoY) ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2564 อยู่ที่ 1.0%YoY (กรอบ 0.8-1.2%YoY) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง ในขณะที่ ราคาอาหารสดโดยเฉพาะข้าว ผัก และผลไม้สด ยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าปี ก่อน และผันผวน แม้จะยังมีปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อน ค่าราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปียังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวหลังจากผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวด ห้องค้ากสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำสะท้อนการฟี้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันได้รับแรงผลักดันหลักจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยยังคงอยู่ในระดับใกล้ศูนย์ เฉลี่ย ม.ค.-ก.ย. 2021 อยู่ที่ 0.07% สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอจากผลกระทบที่รุนแรงของโควิดและยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ดังนั้นเราคาดว่า ธปท. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2021

มุมมองตลาดหุ้น วันนี้คาด SET 1630-1640 หุ้นแนะนำ SCB, BEM

1) SCB (ราคาพื้นฐาน 139.00 บาท) SCB จะปรับโครงสร้างองค์กรมาเป็น holding company ผ่านวิธี share swap กับ SCBx (จัดตั้งใหม่) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ การบริหารเงินทุนและเพิ่มมูลค่า เราชอบแผนธุรกิจนี้เพราะเห็น upside จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่มี PBV สูง

2) BEM (ราคาพื้นฐาน 10.11 บาท) คาดว่ากำไร 3Q21 แย่แต่จะฟื้นตัวใน 4Q21 โดย BEM ถือเป็นหุ้นกลุ่ม reopening ที่คาดว่าจะได้ sentiment บวกจากจากสถาณการณ์โควิดในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความหวังจากการชนะประมูล รฟฟ.สายสีส้ม

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ 

วันพุธ ติดตาม ตัวเลข Factory order ของเยอรมัน เดือน ส.ค. คาด -1.5% MoM ตัวเลข Construction PMI ของเยอรมันเดือน ก.ย. คาด +8.9% MoM เป็น 48.6 จุด ตัวเลข Retail sales ของยุโรปเดือน ส.ค. คาด +0.8% MoM ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดย ADP เดือน ก.ย. คาด +4.3 แสนตำแหน่ง และปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์

วันพฤหัสฯ ติดตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน ก.ย. และตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯรายสัปดาห์คาด 3.44 แสนคน

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Caixin Service PMI ของจีนเดือน ก.ย. คาด +4.9% MoM เป็น 49 จุด ตัวเลข Non-farm payrolls ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด +4.6 แสนตำแหน่ง ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯเดือน ก.ย. คาด 5.1% ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด +4.6% YoY และตัวเลข Wholesale inventories ของสหรัฐฯเดือน ส.ค. คาด +1.2% MoM

- Advertisement -