บล.ไอร่า:

ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

กําไรสุทธิ 3Q/64 อยู่ที่ 6,817 ล้านบาท ลดลง 60%qoq และ 30%yoy ผลกระทบจาก Covid-19 ระลอกใหม่ พร้อมส่วนต่างปิโตรเคมีลดลง และบันทึกด้อยค่าสินทรัพยโรงงานซีเมนต์ในเมียนมาร์

  • ภาพรวม 3Q/64 ผลการดำเนินงานชะลอตัวทั้ง qoq และ yoy จากธุรกิจปิโตรเคมี แม้ปริมาณขายทำ New High แต่ถูกกดดันจากต้นทุนและราคาขายในภูมิภาค ทำให้ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ลดลง พร้อมธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่มีผลขาดทุน 2,400 ล้านบาท หลังบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์โรงงานซีเมนต์ในเมียนมาร์ แต่จาก 1H/64 เติบโตโดดเด่น ทำให้คาดทั้งปี’64 กำไรสุทธิ 45,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%
  • ขณะที่คาดปี’65 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7% และ 3% อยู่ที่ 469,942 ล้านบาท และ 46,985 ล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปิโตรเคมีอาจมีความผันผวน หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่สามารถปรับราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นในทิศทางเดียวกับต้นทุน อาจทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด
  • SCC มีความน่าสนใจจากฐานะการเงินดี คาด Div. Yield ~4% (2 ครั้งต่อปี) มีการลงทุนต่อเนื่องรวมถึงแผนการทำธุรกิจปิโตรเคมีเข้า Listed ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโต เช่นเดียวกับ Packaging คาดชัดเจนปี’65 ทำให้ยังแนะนำ “ซื้อ” โดยเฉพาะช่วงราคาลดลงหลัง 3Q/64 ต่ำกว่าคาด ประเมินราคาเป้าหมายปี’65 ที่ 470.00 บาท อิง PE 12X

กำไรสุทธิ 3Q/64 ลดลง 60% qoq และ 30% yoy อยู่ที่ 6,817 ล้านบาท

SCC ประกาศกำไรสุทธิ 3Q/64 จำนวน 6,817 ล้านบาท ลดลง 60% qoq และ 30% yoy หลังได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ระลอกใหม่ และมาตรการ Lockdown ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง รวมทั้งบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในประเทศเมียนมา ทำให้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างพลิกขาดทุน 2,400 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการดังกล่าวจะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติประมาณ 9,000 ล้านบาท ลดลง 47% qoq และ 7% yoy ทางด้านรายได้ขายอยู่ที่ 131,825 ล้านบาท ลดลง 1% qoq แต่เพิ่มขึ้น 31% yoy มาจาก

(1) ธุรกิจปิโตรเคมีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 46% หรือ 60,060 ล้านบาท ลดลง 1% qoq แต่เพิ่มขึ้น 59% yoy จากปริมาณขาย Polyolefin (PE และ PP) สูงสุดอยู่ที่ 505,000 ตัน เพิ่มขึ้น 13,000 ตัน จาก 2Q/64 ภายใต้การบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายและขนส่ง โดยเน้นไปยังประเทศที่มีความต้องการสูง เช่น ญี่ปุ่น จีน และเอเชียตะวันตก เป็นต้น ทำให้คงยอดขายได้ในระดับสูงแม้อยู่ในช่วง Covid-19 กลับมาระบาดในภูมิภาคทางด้านส่วนต่าง HDPE – Naphtha และ PP-Naphtha เฉลี่ย 462 USD/ตัน และ 551 USD/ตัน ลดลง 21% qoq ผลจากราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงหลังกำลังการผลิตในจีนเพิ่มขึ้น

(2) ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33% หรือ 44,059 ล้านบาทลดลง 5% qoq แต่เพิ่มขึ้น 3% yoy จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ นอกอาเซียน และความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากตลาด Renovate อย่างไรก็ตาม การเติบโตยังดีเมื่อเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งหดตัว 12% yoy หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการปิด Site ก่อสร้างกว่า 2 เดือน และปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ปริมาณขายกระเบื้องเซรามิก (ปูพื้นและบุผนัง) ในอาเซียนอยู่ที่ 35 ล้านตรม. ลดลง 15% qoq และ yoy ผลจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ทำให้หลายประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวอย่างเข้มงวด ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น 10% yoy และราคาขายปูนซีเมนต์เฉลี่ย 1,700–1,750 บาท/ตัน ทรงตัว qoq และ

(3) ธุรกิจ Packaging คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% มีรายได้ 31,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% yoy และ 7% qoq ผลจากการขยายธุรกิจแบบ M&P (SOVI, Go-Pak, Duy Tan และ Intan Group) และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดในประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้ความต้องการกลับมาขยายตัวดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินค้าอิเล็คทรอนิกส์

ทางด้าน EBITDA จำนวน 14,741 ล้านบาท ลดลง 54% qoq และ 23% yoy หลักๆ จากธุรกิจปิโตรเคมี (สัดส่วน 43% ของ EBITDA รวม) อยู่ที่ 6,271 ล้านบาท ลดลง 60% qoq และ 29% yoy ผลจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และแรงกดดันจากราคาขายจากสถานการณ์ Covid-19 ในภูมิภาค

ขณะที่ Packaging มี EBITDA จำนวน 4,918 ล้านบาท ลดลง 12% 40q แต่เพิ่มขึ้น 27% yoy ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมี EBITDA อยู่ที่ 1,035 ล้านบาท ลดลง 84% qoq และ 80% yoy ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวลงทั้งในไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งในไตรมาสนี้มีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์

ฐานะการเงินยังอยู่ในระดับที่ดีแม้เงินสดในมือ -3Q/64 อยู่ที่ 69,537 ล้านบาท ลดลงจาก 94,543 ล้านบาท เมื่อ 2Q64 และหนี้สินสุทธิอยู่ที่ 224,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 178,232 ล้านบาท 2Q/64 หลักๆ ใช้ในงานก่อสร้างโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) โดยสัดส่วนประมาณ 88% เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว ขณะที่มีหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 2.5 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.9 เท่าเมื่อ 2Q/64

ทางด้านเงินลงทุน 9M/64 อยู่ที่ 72,296 ล้านบาท (เป้าหมายทั้งปี 64 อยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท) โดยสัดส่วน 66% เป็นเงินลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี และหลักๆ เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรของ LSP รวมถึงโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซียของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP)

แนวโน้มผลการดำเนินงานทั้งปี’64 อยู่ในความคาดหมาย และคาดเติบโตต่อเนื่องในปี’65

แนวโน้มผลการดำเนินงานปี’64 อยู่ในความคาดหมาย คาดรายได้และกำไรสุทธิ 439,198 ล้านบาท และ 45,814 ล้านบาท เติบโต 10% และ 34% ตามลำดับ ภายใต้ผลการดำเนินงาน 1H/64 เติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่ได้รับปัจจัยหนุนจากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดช่วยชดเชย 2H/64 ที่มีแนวโน้มชะลอตัว HoH  หลังได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ระลอกใหม่ เมื่อช่วง 3Q/64 พร้อมส่วนต่างผลิตภัณฑ์ชะลอตัวจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น กระทบต่อราคา Naphtha ซึ่งเป็นวัตถุดิบ

คาดปี’65 ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7% และ 3% อยู่ที่ 469,942 ล้านบาท และ 46,985 ล้านบาท ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ตามลำดับ คาดช่วยให้ความต้องการในกลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจ Packaging เติบโตจากการขยายธุรกิจแบบ M&P อย่างไรก็ตาม คาดธุรกิจปิโตรเคมีอาจเผชิญความผันผวนบ้างจากราคาน้ำมันหากปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และราคาผลิตภัณฑ์ปรับขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าคาด ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างผลิตภัณฑ์แคบลง ขณะที่คาดเงินปันผลทั้งปี 64 (คาดคงเหลือจ่าย 2H/64 ประมาณ 8.50 บาท/หุ้น) และ 65 อยู่ที่ประมาณ 17 บาท/หุ้น

- Advertisement -