ผู้บริหาร SVT แจงเหตุ BigLot จำนวน 30 ล้านหุ้นบนกระดาน เผยเป็นการขายให้กับกองทุนต่างประเทศที่สนใจเข้าลงทุนในบริษัท ระบุกองทุนยังคงให้ความสนใจหลังเข้าจดทะเบียนฯ พอได้จังหวะจึงเข้าซื้อ หลังเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่แผนการดำเนินงาน พร้อมเดินหน้าขยายฐานต่อเนื่อง ตั้งเป้าขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในปี 2565 เพิ่มเป็น 17,000 เครื่อง พร้อมปรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง เริ่มขยายจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าที่จังหวัดลำพูนเป็นแห่งแรก ตามด้วยอุดรธานี เจาะกลุ่มเป็นหมายที่เป็นภาคอุตสาหกรรม เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโรงงาน ส่วนการทำระบบแฟรนไชส์ คาดเริ่มได้ภายในสิ้นปีนี้ เป็นโครงการนำร่อง ก่อนจะมีการขยายอย่างเป็นทางการในปี 2565

 

นางอาภัสรา ภาณุพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT ผู้นำในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (เวนดิ้ง แมชชีน : Vending Machine) ภายใต้เครื่องหมายการค้า SUNVENDING เปิดเผยว่า จากได้มีการซื้อขายหุ้นผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (Big Lot) จำนวน 30,154,380 หุ้น หรือคิดเป็น 4.31% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสนอขายให้กับกองทุนต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันได้ให้ความสนใจและมีความต้องการซื้อหุ้นของบริษัท

อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นบิ๊กล็อตในครั้งนี้ ไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างการจัดการและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งสาเหตุที่กองทุนดังกล่าวเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น เพราะมีความสนใจในหุ้นของ SVT ตั้งแต่ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจวบเหมาะกับได้จังหวะเข้าลงทุนในช่วงเวลานี้ จึงได้ทำการซื้อขายบิ๊กล็อตจำนวนดังกล่าวบนกระดานขึ้น

“ทางกองทุนต่างประเทศได้ติดตามและให้ความสนใจในธุรกิจของบริษัท รวมถึงศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเติบโตของบริษัทก่อนที่จะเข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยให้ความเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจและประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมการบริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไปเพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน และมองเห็นถึงช่องทางการเติบโตของบริษัทที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการซื้อขายบิ๊กล็อตในครั้งนี้” นางอาภัสรา กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานธุรกิจในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะสามารถทำรายได้เติบโตประมาณ 25% ตามแผนที่วางไว้ จากการเดินหน้าขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น และการเปิดธุรกิจใหม่ อย่าง  แเฟรนไชส์  ระบบเช่า และโฆษณาบนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงการรุกขายตู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในปี 2565 เพิ่มเป็น 17,000 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 เครื่อง จากเดิมในปี 2564 มีจำนวนเครื่องทั้งหมด 14,600  เครื่อง พร้อมปรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง  และจะเริ่มขยายจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าที่จังหวัดลำพูนเป็นแห่งแรก เพื่อเจาะกลุ่มเป็นหมายที่เป็นภาคอุตสาหกรรม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโรงงาน ส่วนในภาคใต้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566

ส่วนการทำระบบแฟรนไชส์นั้น คาดว่าจะเริ่มแบบก่อนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยในเบื้องต้นมีลูกค้าสนใจในระบบดังกล่าวแล้ว 1-2 ราย โดยเป็นโครงการนำร่อง  ก่อนจะมีการขยายอย่างเป็นทางการในปี2565

**********************************

- Advertisement -