บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง:

GFPT PCL (GFPT) ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

TP Revision

ประเด็นการลงทุน

แม้เราปรับลดประมาณการกำไรลงเพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น แต่คาดว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 3Q64 และจะค่อยๆฟื้นตัวใน 4Q64 เนื่องจากการบริโภคและการส่งออกฟื้นตัวจากการคลายล็อกดาวน์ ขณะที่กำลังการผลิตไก่ปรุงสุกส่งออกเพิ่มขึ้น ราคาไก่ฟื้นตัวอย่างมีนัยยะและต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่เพิ่มขึ้น เราแนะนำ ซื้อ โดยประเมินราคาเป้าหมายใหม่ที่ 13.90 บาท จากเดิมที่ 14.60 บาท โดยประเมินจาก PE 16 เท่า (PE +1SD สะท้อนถึงแนวโน้มฟื้นตัว)

ปรับลดประมาณการสะท้อนต้นทุนสูงขึ้น

เราปรับลดประมาณการกำไรปี 2564 2565 ลง 72% และ 6% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนถึงการที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งสูงกว่าคาด ซึ่งส่งผลกระทบให้ผลประกอบการ 3Q64 ขาดทุน อย่างไรก็ดี ผลประกอบการมีแนวโน้มจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ 4Q64 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 โดยได้ผลบวกจากการกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาไก่ฟื้นตัวอย่างมีนัยยะ ต้นทุนวัตถุดิบเริ่มทรงตัว

ราคาไก่ฟื้นตัวจาก 30 บาท/กก. ใน 3Q64 มาเป็น 37-38 บาท/กก. ซึ่งเป็นระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดรอบแรก เนื่องจากการบริโภคเพิ่มขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และผู้ประกอบการบางรายลดการผลิตหลังจากราคาไก่ตกต่ำ ขณะที่ราคาโครงไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12-13 บาท/กก. จาก 10-11 บาท/กก. ใน 3Q64 ส่วนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เริ่มลดลง โดยเฉพาะราคากากถั่วเหลืองในเดือน พ.ย. ลดลงมาต่ำกว่า 18 บาท/กก. จากราคาเฉลี่ย 19 บาท/กก. ใน 3Q64 เราคาดว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มทรงตัวหรือค่อยๆลดลงต่อจากนี้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเริ่มเพิ่มขึ้น

อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 80%

สายการผลิตใหม่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือน ก.ย. ทำให้กำลังการผลิตไก่ปรุงสุกส่งออกเพิ่มขึ้น 25-50% เป็น 2,500-3,000 ตัน/เดือน โดยคาดว่าใน 4Q64 จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 80% ส่งผลให้ปริมาณไก่ส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 20% QoQ เป็น 6,500 ตัน ทั้งนี้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลบวกชัดเจนในปีหน้า จากการผลิตเป็นเวลาเต็มทั้งปี ทำให้ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น

ความเห็น: Oversupply ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ปริมาณส่งออกลดลง

- Advertisement -