บล.ทรีนีตี้:

INTER PHARMA – อินเตอร์ ฟาร์มา (IP)

คาด 4Q64F ทํา New High มองปี 65 เติบโตสูงต่อเนื่อง

  • กำไร 3Q64 ที่ 26 ล้านบาท (+3.8% QoQ, +39.3% YoY) รายได้โตสูง แต่ GPM ลดลง ปัจจัยหลักจากโรงงานยาคาด 4Q65F เติบโตต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่
  • มุมมองเป็นบวกต่อการเข้าซื้อ LAB Pharmacy เติมเต็ม Supply chain ปลายน้ำ และมีแผนธุรกิจ JV กับ OTO เกี่ยวกับ Telepharmacy ต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน
  • คงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 29.70 บาท (วิธี DCF) ณ ราคาปัจจุบันมี upside ราว 47% ซื้อขายบน Forward P/E ราว 28 เท่า มองเป็น Growth Stock มีแนวโน้มการเติบโตสูงระดับ PEG ยังต่ำกว่า 1 คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ CAGR ปี 63-66 ราว 76% ต่อปี โดยยังไม่รวม Upside จากการซื้อร้านขายยาธุรกิจ Telepharmacy และแผนธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต

สรุปผลการดำเนินงาน 3Q64

  • กำไรสุทธิ 3Q64 จำนวน 26 ล้านบาท (+3.8% QoQ, +39.3% YoY) ทำจุดสูงสุดใหม่ แต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 33 ล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าที่คาด แม้รายได้โตสูง โดยมีรายได้จากการขาย 240 ล้านบาท (+21.2% QoQ, +120.6% YoY) ขณะที่กำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 39.9% (60.1% ใน 3Q63, 48.8% ใน 2Q64) เนื่องจากมีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าเข้ามาหลังควบรวมโรงงานผลิตยาเทวาฟาร์มาแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี มีสัดส่วน SG&A ต่อยอดขาย 27.0% (38.2% ใน 3Q63, 32.8% ใน 2Q64) โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเติบโตในอัตราเร่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ โดยหลังการซื้อโรงงานผลิตยาที่รับรู้รายได้เข้ามาเพิ่มทันที ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนมากยังเป็นค่าใช้จ่ายต้นทุนคงที่ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงงานผลิตยาใหม่มีแนวโน้มลดลง
  • โดยสรุปกำไรงวด 9M64 เท่ากับ 69 ล้านบาท (+40% YoY) เติบโตสูงจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น จากทั้งธุรกิจเดิมและการรวมโรงงานผลิตยาเข้ามา โดยกำไรงวด 9M64 คิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของประมาณการปี 2564 ที่ 137 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีการพิจารณาปรับประมาณการกำไรปี 2564 ลงราว 35% เป็น 102 ล้านบาท เพื่อให้สะท้อนภาพผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนที่ผ่านมา

แนวโน้ม 4Q64F เติบโตดี คาดทำจุดสูงสุดใหม่

  • คาดการณ์ผลการดำเนินงาน 4Q64F จะอยู่ที่ราว 33 ล้านบาท เติบโตทั้ง QoQ และ YoY ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้จากการรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริมของโรงงานเทวาฟาร์มาเพิ่มเติมราว 30 ล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆดีขึ้น หลังค่าใช้จ่ายปรับปรุงโรงงานลดลง อีกทั้งมองว่าโรงงานผลิตยาโมเดิร์นฟาร์มาจะเริ่มมีกำไรใน 4Q64F เป็นไตรมาสแรก

คาดการณ์ปี 2565 เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง หลังซื้อโรงงานผลิตยาแล้วเสร็จ มุ่งขยายช่องทางปลายน้ำเติมเต็ม Supply Chain พร้อมต่อยอดด้วย Telepharmacy คาดการณ์ปี 2565 จะเป็นปีที่บริษัทเติบโตสูงอีกปีหนึ่ง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจาก

1. การรับรู้รายได้จากการผลิตยาของโรงงานเทวาฟาร์มา และโมเดิร์นฟาร์มาเข้ามาเต็มปี โดยมีการรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริม (OEM) ทั้งจากลูกค้าเดิมของโรงงานเทวา การเป็น OEM ให้กับ TU และเติบโตจากลูกค้ารายใหม่

2. การรับรู้รายได้จากธุรกิจร้านขายยา LAB Pharmacy ที่คาดว่าจะทำรายการแล้วเสร็จในช่วง 1Q65 ผ่านการซื้อหุ้นกิจการบริษัท ดรักแคร์ จำกัด ในสัดส่วน 88.67% มูลค่าราว 311 ล้านบาท ซึ่งเรามีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการขยาย Supply chain เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (โรงงาน) ไปจนถึงปลายน้ำ (ช่องทางจำหน่าย) และยังสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวรองรับโอกาสการขยายธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต เช่น Telepharmacy เป็นต้น โดยเรายังไม่รวม upside เกี่ยวกับประเด็นนี้ในประมาณการปัจจุบันของเรา

3. ธุรกิจ Telepharmacy ต่อยอดร้ายขายยา โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้มีประกาศการเข้าทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลงทุนในธุรกิจ Telepharmacy ร่วมกับบริษัท อินโนฮับ จำกัด บริษัทย่อยของ OTO) โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรออนไลน์ (Telephamacy) โดยบริษัทจะร่วมทุนในสัดส่วน 50% ทั้งนี้ หากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในช่วง 1Q65F โดยฝ่ายวิเคราะห์มองว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจ เป็นการต่อยอดด้านปลายน้ำหลังซื้อร้านขายยา ซึ่งหากมี Telephamacy ทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อลูกค้า ซึ่งอาจสามารถมารับยาได้ที่สาขาได้รวดเร็วปลอดภัยขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความหลากหลายเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า และเป็นการขยายฐานลูกค้าให้บริษัท โดยเรายังไม่รวม upside เกี่ยวกับประเด็นนี้ในประมาณการปัจจุบันของเรา

ปรับประมาณการปี 2564 ลดลง แต่ยังเติบโตสูง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2564

ปรับประมาณการรายได้รวมปี 2564 (Exhibit 1) ลงมาอยู่ที่ 859 ล้านบาท (+94.3% YoY) จากเดิมที่ 970 ล้านบาท (+119% YoY) คิดเป็นการปรับประมาณการรายได้ลดลงราว 11.4%

ปรับสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2564 ลดลงเป็น 44.4% จากเดิม 50.0% เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่ากลุ่มอาหารเสริมเข้ามาหลังควบรวมโรงงงานผลิตยาทั้งสองแห่งสำเร็จ อย่างไรก็ดี สำหรับสมมติฐานสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายปี 2564 มีการปรับลดลงเป็น 29.6% จาก 32.5% เนื่องจากงวด 9M64 ที่ผ่านมามีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเติบโตในอัตราเร่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และจากการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการปรับประมาณการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ลดลงอยู่มาอยู่ที่ 102 ล้านบาท (+90.4% YoY) คิดเป็น EPS 0.34 บาทต่อหุ้น จากประมาณการเดิมที่ 137 ล้านบาท โดยกระทบต่อราคาเป้าหมายปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 26.20 บาท (จากเดิม 27.00 บาท)

คงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 29.70 บาทต่อหุ้น

คงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 29.70 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี DCF สมมติฐาน WACC 7% Terminal growth 3% ณ ราคาปัจจุบันซื้อขายบน Forward P/E ราว 28 เท่า โดยเรามองว่า IP เป็นบริษัท Growth Stock ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ระดับ PEG ยังต่ำกว่า 1 คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ CAGR ปี 63-66 ราว 76% ต่อปี โดยยังไม่รวม Upside จากการซื้อร้านขายยา ธุรกิจ Telepharmacy และแผนธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต

พร้อมกันนี้เราได้ทำตาราง DCF Sensitivity Analysis (Exhibit 2) ที่สมมติฐาน BETA ในกรอบ 0.60-0.85 และ Terminal Growth ระหว่าง 1-5% เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ความเสี่ยง: การแข่งขันในตลาดสุขภาพและความงามรุนแรง, พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง

- Advertisement -