กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามตลาดคาด

ปัจจัยต่างประเทศ: สถาณกาณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีข่าวเชิงบวกเข้ามาหลังมีรายงานผลการศึกษาครั้งล่าสุดของสถาบันอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนระบุว่า ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีน้อยกว่าผู้ป่วยสายพันธุ์เดลต้าประมาณ 40% – 45% สอดคล้องกับผลวิจัยของสถาบันโรคติดต่อของแอฟริกาใต้ และสถาบันสาธารณสุขของสก็อตแลนด์ นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP Q3/64 ขยายตัว 2.3% สูงกว่าประมาณการครั้งที่สองและสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 2.1% รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ สำรวจโดย Conference Board ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 115.8 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 111.9 ในเดือนพ.ย. มากกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 110.8 ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุน sentiment บวกตลาดหุ้นต่างประเทศเมื่อคืนที่ผ่านมา

ประเด็น Supply disruption ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ดันเงินเฟ้อสูง ล่าสุดปธน.สหรัฐฯไบเดนเรียกประชุมจนท.-บริษัทเอกชน เร่งหารือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรมว.เกษตร, พาณิชย์, แรงงาน และการขนส่ง รวมถึงสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ โดยได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการจราจรคับคั่ง รวมถึงการลดความแออัดของท่าเรือ และการขยายเวลาทำงานของคนขับรถบรรทุก รวมถึงสั่งให้ทำการตรวจสอบการกำหนดค่าขนส่งที่สูงเกินไป และความเป็นไปได้ที่จะมีการทำผิดกฎหมายในตลาดน้ำมันและก๊าซ

ปัจจัยภายในประเทศ: ผลประชุมกนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามตลาดคาด ประเมินโอมิครอนเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ทั้งนี้ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2023 ขยายตัวที่ 0.9%, 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัว 0.7%และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตามธปท. คาดการณ์ว่าโอมิครอนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เงินเฟ้อระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ธปท. คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2021-2023 ที่ 1.2%, 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ธปท. ประเมินราคาพลังงานมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 นอกจากนี้ ธปท. ยังมองว่าการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการยังคงจำกัด จากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบาง

ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มคงอตัราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อเนื่อง จนกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างแท้จริง โดยเราประเมินว่ามีโอกาสน้อยมากที่ กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทถูกกดดันจากโอมิครอนและแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดการแพร่ระบาดของโอมิครอนส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ชะลอลง โดยเฉพาะชะลอการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ให้อยู่ในฝั่งแข็งค่าต่อเนื่อง ประกอบกับคาดการณ์ว่า ธปท. ไม่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันค่าเงินบาทในระยะนี้

มุมมองตลาดหุ้น คาด SET 1630-35 หุ้นแนะนำ EPG, QH

EPG (ราคาพื้นฐาน 14.00 บาท). คาดแรงหนุนของยอดขายทั้ง 3 ธุรกิจจะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า (FY21A-FY24E) ที่ประมาณ 20% ต่อปี นอกจากนี้ยังมี upsides จาก M&A ด้วยหลังฐานะการเงินจะพลิกเป็น net-cash ปีหน้า ขณะที่บริษัทสามารถส่งต่อต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นผ่านการปรับราคาขายขึ้นได้ ซึ่งจะได้ sentiment บวกเพิ่มเติมหากราคาน้ำมันปรับตัว

QH (ราคาพื้นฐาน 2.80 บาท). คาดการฟื้นตัวแข็งแกร่งของกำไรจากทุกกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ 4Q21 และต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่ระดับเงินปันผลกว่า 7% และระดับมูลค่าที่ไม่แพงจะเป็นตัวสนับสนุนความน่าสนใจในการลงทุน

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันพฤหัสฯ ติดตาม ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของไทยเดือน พ.ย. ตัวเลข Personal Spending ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. คาด +0.6% MoM ตัวเลข Personal Income ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. คาด +0.4% MoM ตัวเลข Durable Goods Orders ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. คาด +1.5% MoM ดัชนี Core PCE Price Index ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. คาด +0.4% MoM และ +4.5% YoY ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯรายสัปดาห์คาด +2.05 แสนคน ตัวเลข New Home Sales ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. คาด +3.4% MoM เป็น 7.7 แสนหลัง และตัวเลข Michigan Consumer Sentiment เดือน ธ.ค. คาด  +4.5% MoM เป็น 70.4 จุด

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Inflation และ Core Inflation ของญี่ปุ่นเดือน พ.ย. คาด +0.4% YoY และ +0.3% YoY ตามลำดับ ตัวเลข Housing Starts ของญี่ปุ่นเดือน พ.ย. คาด +7.1% YoY

- Advertisement -