บล.ทรีนีตี้:

WORLD FLEX – เวิลด์เฟล็กซ์ (WFX)

WFX หนึ่งในผู้ผลิตเส้นด้ายยางยืดรายใหญ่ของโลก

  • WFX เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้ง และเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบซิลิโคน จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ TRUBB ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มการเกษตร 
  • ประมาณการรายได้และกําไรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ปี 2563-2566 (CAGR) ราว 20.0% ต่อปี และกําไรเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 79.1% ต่อปี เติบโตในอัตราเร่งที่สูงกว่าการเติบโตของรายได้
  • IPO ครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้เป็นเงินทุนในการขยายโรงงานผลิตเส้นด้ายยางยืด ใช้ชำระหนี้คืนเงินกู้แก่สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
  • ประเมิน Fair value สิ้นปี 2565 ที่ 11.34 บาท อ้างอิงวิธี P/E 17 เท่า ซึ่งป็นระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีของอุตสาหกรรมแฟชั่น (SETFASH Index) -0.25SD โดยเลือกเฉพาะระดับที่อยู่ในช่วงเวลาปกติไม่เกิน 100 เท่าเพื่อความ Conservative

ความน่าสนใจในการลงทุน WFX

  1. ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมสินค้าในหลายอุตสาหกรรม โดยบริษัทมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของชนิด ขนาด และสี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตเส้นด้ายยางยืดเพียงไม่กี่รายในโลกที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมสินค้าในเกือบทุกอุตสาหกรรม
  2. ผลิตภัณฑ์เส้นได้ยางยืดเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใช้เป็นส่วนประกอบของสินค้าสำเร็จรูปต่างๆที่มีความจำเป็นในการอุปโภค และเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานจำกัด ทำให้เกิดการบริโภคสินค้านั้นๆซ้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ
  3. ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตน้ำยางข้นคุณภาพดีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของบริษัท ทั้งในด้านความเพียงพอ คุณภาพของวัตถุดิบหลัก และการขนส่งวัตถุดิบ ทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตเส้นด้ายยางยืดรายใหญ่ของโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง 
  4. ผู้ผลิตเส้นด้ายยางยืดรายใหญ่ของโลก โดยบริษัทมีแผนขยายกําลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณความต้องการของลูกค้า และสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตรติดตั้งจาก 41,040 ตันต่อปี ในปี 2563 เป็น 61,000 ตันต่อปี ภายในปี 2566 
  5. แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดบริษัทมีความสามารถในการทํากําไรดีขึ้น โดยประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2566 จำนวน 274 ล้านบาท 310 ล้านบาท และ 332 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตในอัตราเฉลี่ย (CAGR) ราว 79.1% ต่อปี คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อยอดขาย 7.8% 8.0% และ 8.0% ตามลำดับ จากแผนการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทสามารถกำหนดราคาขายด้วยอัตรากำไรที่สูงขึ้นได้ รวมถึงคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

ลักษณะการประกอบธุรกิจ

บริษัท เวิลด์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) (WFX) จดทะเบียนก่อตั้งเริ่มแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2534 ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้ง และเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบซิลิโคน โดยจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ทั้งหมดจำนวน 7 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ WORLD FLEX แบรนด์ THAITEX แบรนด์ QUALIFLEX แบรนด์ LT RUBBER แบรนด์ CHANGTHAI แบรนด์ PEGASUS (Blue) และ แบรนด์ PEGASUS (China)

บริษัทผลิตเส้นด้ายยางยืดโดยใช้วัตถุดิบหลักคือน้ำยางข้น และจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสินค้าเส้นด้ายยางยืดจะนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ถุงเท้า ชุดชั้นใน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ลักษณะสินค้าของบริษัทแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. เส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้ง (Talcum Rubber Thread) เป็นเส้นด้ายยางยืดที่มีการเคลือบแป้งทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นสารทัลค์ในรูปของผงละเอียดคล้ายแป้งฝุ่น เพื่อให้เส้นด้ายยางยืดติดกัน  และง่ายต่อการแยกเส้นด้ายยางยืดแต่ละเส้นในการใช้งาน ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วไป อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น 

2. เส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบซิลิโคน (Silicone Rubber Thread) เป็นเส้นด้ายยางยืดที่มีการเคลือบซิลิโคน (Silicone) ซึ่งเป็นสารเคลือบเงาในรูปของนำพลาสติกผสมกับสารเคมี เพื่อให้เส้นด้ายยางยืดไม่ยึดติดกัน และง่ายต่อการแยกเส้นด้ายยางยืดแต่ละเส้นในการใช้งาน ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษทางฝุ่นจากการเคลือบแป้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วไป อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

บริษัทมีโรงงานผลิตเส้นด้ายยางยืดจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงสาย 3191 ตำบล แม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีปริมาณการกำลังการผลิตจริงเส้นด้ายยางยืดทุกขนาดรวม 35,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ในปี 2561 – 2563 และงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 86.07% 88.23% 89.41% และ 95.20% ตามลำดับ

ช่องทางการจำหน่ายและลูกค้าเป้าหมาย

บริษัทผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้งและเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบซิลิโคนให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายสินค้า ให้แก่ ลูกค้าในต่างประเทศ ได้แก่ จีน บังกลาเทศ บราซิล อินโดนีเซีย ปากีสถาน กัมพูชา รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมทวีปต่างๆทั่วโลก ได้แก่ ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ในปี 2561 – 2563 และงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 98.07% 98.44% และ 98.76% และ 98.82% ของรายได้จากการจำหน่ายเส้นด้ายยางยืด ตามลำดับ โดยบริษัทมีการกำหนดระยะเวลาชำระค่าสินค้า (Credit Term) ให้แก่ลูกค้า 30-60 วัน

เส้นด้ายยางยืดของบริษัทเป็นสินค้าที่นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ถุงเท้า ชุดชั้นใน เฟอร์นิเจอร์ เหยื่อตกปลาจำลอง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่บริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านทางผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) เพื่อจำหน่ายสินค้าต่อให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้ใช้เส้นด้ายยางยืดของบริษัทที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆได้แก่

1. อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ ได้แก่ เสื้อยืด กางเกง ถุงเท้า ชุดชั้นใน ถุงน่อง เป็นต้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ ได้แก่ หน้ากากผ้า ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ชุด PPE) เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ สายยางยืดใต้เบาะรองที่นั่ง สายยางยืดใต้เก้าอี้ เป็นต้น 

4. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ยานยนต์ ได้แก่ สายรัดสิ่งของที่ใช้สำหรับจักรยานยนต์ เป็นต้น 

ภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน

เส้นด้ายยางยืดเป็นสินค้าที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วไป อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่ออุปสงค์ของเส้นด้ายยางยืด

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ผลิตสิ่งทออันดับต้นของโลก บริษัทจึงมีสัดส่วนในการจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดไปยังประเทศจีนเป็นอันดับที่ 1 ของการจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดทั้งหมดของบริษัท ดังนั้น ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัท ดังกล่าวถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสการสร้างรายได้และกำไร รวมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท

อุตสาหกรรมสิ่งทอของโลก

ในช่วงปี 2559 – ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสิ่งทอโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มากขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และจากจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อุปสงค์ของเสื้อและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้จากการที่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจึงมีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้อุปสงค์และราคาของผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอสูงขึ้น โดยในปี 2559 – 2563 มูลลค่าตลาดสิ่งทอโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14.90% ต่อปี และ MARKETLINE ประมาณการมูลค่าตลาดสิ่งทอของโลกสูงขึ้นในปี 2564 อัตราการเติบโต 6.80% จากปี 2563

อุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศจีน

ในปี 2552 – 2559 ปริมาณผลิตสิ่งทอในประเทศจีน โดยรวมมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามอุปสงค์ของตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 – 2562 ปริมาณการผลิตสิ่งทอในประเทศจีนมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในอัตาการเติบโตเฉลี่ยติดลบ 16.05% ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดและกีดกันด้วยมาตรการการเพิ่มภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ทำให้ผู้ผลิตสิ่งทอที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา และประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตใกล้เคียงกับประเทศจีน และมีต้นทุนแรงงานต่ำ อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐัอเมริกาและประเทศจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผนวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน และด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศจีนได้มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสิ่งทอเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวและวัสดุตกแต่งเสื้อผ้าต่างๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง จึงยังคงมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน โดย MARKETLINE คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสิ่งทอในประเทศจีนสำหรับปี 2563 – 2568 จะฟื้นตัว และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.70% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าในทวีปต่างๆ นอกเหนือจากในประเทศจีน เพื่อลดการพึ่งพิงลูกค้าในประเทศจีน โดยในปี 2563 บริษัทได้ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี ประเทศโปแลนด์ เป็นต้น และทวีปอเมริกาใต้ เช่น ประเทศบราซิล ประเทศโคลอมเบีย ประเทศอาร์เจนตินา เป็นต้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

Grand View Research คาดการณ์มูลค่าตลาดสิ่งทอทางการแพทยท์ทั่วโลกในปี 2563-2568 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.90% ต่อปี โดยเฉพาะสิ่งทอทางการแพทย์ประเภทอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และ STATISTA คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7.41% ต่อปี

ทั้งนี้ ด้วยการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในปี 2562 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการ จำหน่ายเส้นด้ายยางยืดเพื่อนำไปผลิตสิ่งทอทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งสินค้าเส้นด้ายยางยืดสำหรับการผลิตสิ่งทอทางการแพทย์สามารถสร้างอัตรากำไรให้แก่บริษัทได้มากขึ้น นอกจากนี้การเติบโตของตลาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลยังส่งผลเชิงบวกให้ปริมาณความต้องการเส้นด้ายยางยืดของบริษัท ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของโลก

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของโลกในปี 2559 – 2563 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยยของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลก 3.02% ต่อปี โดยแนวโน้มภาพรวมของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีปัจจัยการเติบโตหลักจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการขยายตัวของชุมชนเมือง ทั้งนี้ในปี 2563 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกมีการเติบโตแบบหดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลงและรัดกุมการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงนโยบายการปิดเมือง (Lock Down) ที่ออกโดยภาครัฐของแต่ละประเทศทั่วโลก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเพิ่มข้อจำกัดในการผลิต การค้า และการขนส่งสินค้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม Statista คาดการณ์ว่าในปี 2563 – 2570 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ของโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.55% โดยอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ยังมีช่องทางการฟื้นตัวและสามารถเติบโตได้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มปรับตัว และฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19) รวมถึงด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้า ผู้ประกอบการค้าเฟอร์นิเจอร์จึงหันมาใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยด้านการขนส่งสะดวกมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์สามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19) และยังคงมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ด้วยประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมากกว่า 30 ปี ทำให้บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นที่รู้จัก และมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มลูกค้า จึงเป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ อีกทั้งบริษัทมีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และบริษัทมุ่งเน้นการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ เพื่อสร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตของบริษัทจะเป็นไปตามการเติบโตของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

ภาวะการแข่งขัน

ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดมีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การผลิตเส้นด้ายยางยืดจำเป็นต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า การจัดหาวัตถุดิบ และความสามารถในการเจาะกลุ่มลูกค้า จึงทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้อาจมีข้อจำกัดดังกล่าว

ข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้น IPO

บริษัทมีทุนจดทะเบียน 464.20 ล้านบาท มูลค่าที่ตีราคาไว้หุ้นละ 1.0 บาท ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้มีจำนวน 142 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท คิดเป็น 30.59% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้จำนวนไม่เกิน 142 ล้านหุ้น มีสัดส่วนการเสนอขายหุ้น ดังนี้

  1. ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“TRUBB”) ตาม
    สัดส่วนการถือหุ้นใน TRUBB (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 11.36 ล้านหุ้น คิด
    เป็น 8% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจำนวนไม่เกิน 14.2 ล้านหุ้น คิดเป็น 10%
    ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 
  3. ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 116.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 82% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 

บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ดังนี้

1. เป็นเงินทุนในการขยายโรงงานผลิตเส้นด้ายยางยืด
2. ชำระคืนเงินกู้แก่สถาบันการเงิน
3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

โครงการในอนาคต

บริษัทมีแผนการลงทุนในการก่อสร้างโรงงานการผลิต และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเส้นด้ายยางยืด โดยเป็นการขยายโรงงานการผลิตในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับที่ตั้งโรงงานของบริษัทในปัจจุบัน ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัด ระยอง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณความต้องการสินค้าของลูกค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโรงงานผลิตเส้นด้ายยางยืด และลงทุนในเครื่องจักรต่างๆมีมูลค่าประมาณ 740 ล้านบาท ซึ่งในระยะเริ่มแรก บริษัทได้ใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในบางส่วนจำนวนประมาณ 340 ล้านบาท เป็นเงินทุนสนับสนุนสำหรับการก่อสร้างโรงงานการผลิตเส้นด้ายยางยืด และเป็นเงินทุนสำหรับซื้อเครื่องจักรต่างๆเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต

วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2562-2563

บริษัทมีรายได้จากการขายในปี 2562-2563 เท่ากับ 2,037 ล้านบาท และ 2,397 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 17.7% และมีกำไรสุทธิจำนวน 8 ล้านบาท และ 58 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 684.4% และคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อยอดขาย 0.4% และ 2.4% ตามลำดับ

สำหรับปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการการขายรวมเท่ากับ 2,397 ล้านบาท เติบโตราว 17.7%YoY ปัจจัยหนุนจากการจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดจำนวน 31,977 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16.5% แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้งเท่าเดิม แต่สามารถผลิตเส้นด้ายยางยืดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ที่สูงขึ้นจาก 88.2% เป็น 89.4% จึงทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายขนาดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บริษัทจำหน่ายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ให้แก่ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ และทวีปยุโรป ซึ่งสืบเนื่องมาจากกลยุทธ์ของบริษัทในการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ที่เพิ่มขึ้นจาก 14.80% เป็น 23.88% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ได้ในราคาที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor)

อัตรากำไรขั้นต้นปี 2563 อยู่ที่ 7.4% จาก 4.8% ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ที่เพิ่มขึ้นจาก 14.8% เป็น 23.9% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตร (End-user) ได้ในอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) จึงส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น อีกครั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 4,500 ตัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของบริษัทลดลง และการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดทางขนาด (Economy of Scale)

กำไรสุทธิในปี 2563 เท่ากับ 58 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ 2.40% จาก 0.4% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ได้ในอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) อีกทั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 4,500 ตัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของบริษัทลดลง และการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดทางขนาด  (Economy of Scale) นอกจากนี้บริษัทยังได้ประโยชน์จากการเริ่มใช้สิทธิประโยชน์บัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ของบริษัทลดลง จึงทำให้กำไรขั้นต้นและอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน 

ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน ปี 2564

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายเส้นด้ายยางยืดจำนวน 1,616 ล้านบาท (+47.4%YoY) สาเหตุหลักจากในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ราคาเฉลี่ยของน้ำยางข้นในตลาดเพิ่มสูงขึ้น 11.93 บาทต่อกิโลกรัม (+35.1%YoY) ทำให้มีการปรับขึ้นราคาขายเส้นด้ายยางยืดตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และบริษัทจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดจำนวน 16,583 ตัน (+16.0%YoY) เยื่องจากในเดือน ม.ค. ปี 2564 บริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้งเพิ่มขึ้น 3,240 ตันจากปี 2563 โดยมีอัตรากำลังการผลิต (Utilization Rate) เพิ่มขึ้นจาก 89.4% เป็น 95.2% ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพที่แตกต่างกันไป จึงรองรับความต้องการที่แตกต่างของเส้นด้ายยางยืดได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่ อีกทั้งบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) เพิ่มขึ้นจาก 19.8% เป็น 29.3% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ได้ในอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มประเภทลูกค้าผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (COVID- 19) ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นบางส่วนของอุปสงค์ของเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สายคล้องหน้ากาก ผ้ายางยืดขอบชุด PPE และหมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น

อัตรากำไรขั้นต้นในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 13.3% จาก 9.3% ในงวด 6 เดือนปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งในเดือน ม.ค. ปี 2564 ซึ่งทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น  ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทสามารถกำหนดราคาขายด้วยอัตรากำไรที่สูงขึ้นได้ รวมถึงมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) เพิ่มขึ้น 19.8% เป็น 29.3% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ได้ในอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ผนวกกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดบางรายในประเทศมีการปิดโรงงานการผลิตจากการติดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าในตลาดขาดแคลนในบางช่วง ในขณะที่ความต้องการเส้นด้ายยางยืดยังคงมีอยู่ บริษัทจึงสามารถกำหนดราคาขายที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 2,200 ตัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตสินค้ามีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และการผลิตสินค้าได้มากขึ้นทำให้เกิดการประหยัดทางขนาด (Economy of Scale) จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 95 ล้านบาท (+104.47%YoY) และอัตรากำไรสุทธิ 5.88% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทสามารถกำหนดราคาขายด้วยอัตรากำไรที่สูงขึ้นได้ รวมถึงบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) เพิ่มขึ้น โดยสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ได้ในอัตรากำไรที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดบางรายในประเทศมีการปิดโรงงานการผลิตจากการติดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าในตลาดขาดแคลน ในขณะที่ความต้องการเส้นด้ายยางยืดยังคงมีอยู่ อีกทั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 2,200 ตัน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตสินค้ามีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และการผลิตสินค้าได้มากขึ้นทำให้เกิดการประหยัดทางขนาด (Economy of Scale) จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และผลขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ที่เลิกใช้งาน รวมถึงมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิจำนวน 18.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) และการประกันค่าเงิน (Options) เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ค่าเงินบาท ณ วันที่ส่งมอบสินค้าอ่อนตัวลงกว่าค่าเงินบาท ณ วันที่ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) แล้ววันที่ทำการประกันค่าเงิน (Options) อย่างไรก็ดี บริษัทฯยังมีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

คาดผลการดำเนินงานปี 2564-2566 เติบโตต่อเนื่อง

คาดรายได้ปี 2564 ปี 2565 และปี 2566 จำนวน 3,528 ล้านบาท 3,885 ล้านบาท และ 4,144 ล้านบาท ตามลำดับ  โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปี 2563-2566 ราว 20.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มราคายางที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับในเดือน ม.ค. ปี 2564 บริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตเส้นด้ายยางยืด และมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 12,400 ตันต่อปี แบ่งเป็น เฟส 1 มีกำลังการผลิตติดตั้ง  6,200 ตันต่อปี และ เฟส 2 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6,200 ตันต่อปี คาดว่าเฟส 1 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 2565 และ เฟส 2 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 2566 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการทำ IPO ในครั้งนี้ ส่งผลให้คาดการณ์ว่าบริษัทจะผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพที่แตกต่างกันไป จึงรองรับความต้องการที่แตกต่างของเส้นด้ายยางยืดได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่

คาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นปี 2564-2566 อยู่ที่ 14.5% 14.0% และ 14.0% ตามลำดับ ปัจจัยหนุนจากแผนการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งทำให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นเว้นวรรคซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัทสามารถกำหนดราคาขายด้วยอัตรากำไรที่สูงขึ้นได้ รวมถึงคาดว่าบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง (End-user) ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทผู้จำหน่ายสินค้า (Distributor) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 

ประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2566 จำนวน 274 ล้านบาท 310 ล้านบาท และ 332 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปี 2563-2566 ราว 79.1% ต่อปี คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อยอดขาย 7.8% 8.0% และ 8.0% ตามลำดับ

การประเมินมูลค่าหุ้น

ประเมิน Fair value สิ้นปี 2565 ที่ 11.34 บาทต่อหุ้น

ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ประเมินมูลค่าหุ้น WFX สิ้นปี 2565 ที่ 11.34 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี P/E Ratio ที่ 17 เท่า ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีของอุตสาหกรรมแฟชั่น (SETFASH Index) -0.25SD โดยเลือกเฉพาะระดับที่อยู่ในช่วงเวลาปกติไม่เกิน 100 เท่า เพื่อความ Conservative บนคาดการณ์ EPS ปี 2565 ที่ 0.67 บาทต่อหุ้น

พร้อมกันนี้ได้จัดทำตาราง P/E Ratio Sensitivity Analysis (Exhibit 15) ที่ P/E ในกรอบ 15 – 23 เท่า ซึ่งอยู่ในกรอบ -0.5SD ถึง +0.5SD และระดับ EPS ในกรอบ 0.60-0.73 ต่อหุ้น (+/- 10% จากประมาณการ) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

ปัจจัยเสี่ยง

  1. ความเสี่ยงจากการจัดหาน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต
  2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำยางข้น  
  3. ความเสี่ยงจากการแข่งขันของผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน และผู้ผลิต
    และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทดแทน 
  4. ความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต 
  5. ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ 
  6. ความเสี่ยงจากความแปรผันของรายได้ตามฤดูกาล 
  7. ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
    กับยางพาราของภาครัฐ
  8. ความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกหรือปรับลดสิทธิประโยชน์ทางการค้า และนโยบายส่งเสริม
    ของภาครัฐในตลาดต่างประเทศ 
  9. ความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 
  10. ความเสี่ยงจากการบริหารงานที่พึ่งพิงผู้บริหารหลัก
  11. ความเสี่ยงจากการมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 
  12. ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 
- Advertisement -