PJW โชว์ศักยภาพกลับมาท็อปฟอร์ม อวดกำไรปี 64 แตะ 169.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.30% ขณะที่รายได้รวม แตะ 3,086.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.47% ขานรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ส่งผลยอดขายเติบโตอย่างโดดเด่น ประกอบกับยอดขายนิวโมเดลบรรจุภัณฑ์ ดันมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจโต พร้อมแจกจ่ายปันผล 0.08 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD 18 เมษายนนี้ พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจ รุกบริหารความเสี่ยง Spin off  ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ให้บริษัทย่อย หวังสร้างโอกาสการลงทุนในรูปแบบใหม่ จ่อต่อยอดธุรกิจ EV

 

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW  เปิดเผยว่า ผลการดเนินงานปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม เท่ากับ 3,086.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 266.96 ล้านบาท คิดเป็น 9.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,819.8 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 169.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.42 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 47.30% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 115.05 ล้านบาท

สาเหตุที่บริษัทมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2564 ยอดขายเริ่มกลับมาฟื้นตัวในระดับเกือบจะเป็นปกติ ประกอบกับมียอดขายใหม่ของงานนิวโมเดล ในส่วนของยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับนมและนมเปรี้ยวเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ยอดขายในประเทศจีน เพิ่มขึ้นกว่า 15%

จากผลการดำเนนงานดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเสนอปันผลประจำงวดผลการดำเนินงานปี 2564ในอัตราหุ้นละ 0.08 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ไม่เกิน 45,926,395.60 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 18 เมษายน 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 2564 ที่กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ฉุดภาพรวมธุรกิจและทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมลดลงในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีการพิจารณาบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีมติอนุมัติปรับโครงสร้างกิจการโดยการโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer : PBT) ได้แก่ 1. ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ 2. ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์พ่นสี 3. ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนที่ใช้เม็ดพลาสติกวิศวกรรมในงานอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงชิ้นงานพลาสติกที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ และ 4. ผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์ที่ใช้สำหรับกิจการในธุรกิจชิ้นส่วนยายนต์ ไปยังบริษัท พีเจดับเบิ้ลยู ออโต้อีวี จำกัด (PJW AutoEV) (เดิมชื่อบริษัท พลาสเทค แล็บ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PJW ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน

สำหรับการปรับโครงสร้างกิจการในครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทในการบริหารการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทให้ชัดเจน และช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เพื่อสร้างโอกาสในการขยายและต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตและยั่งยืนในอนาคต รวมถึงยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการและการบริหารงานของกลุ่มบริษัท

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท ทาง PJW ยังคงประกอบธุรกิจทั่วไป โดยยังคงเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงประกอบธุรกิจเข้าลงทุนรวมไปถึงการเข้าร่วมทุนในกิจการอื่น ดังนั้น การโอนกิจการให้แก่ PJW AutoEV ดังกล่าว เป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของบริษัท จึงไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด

“การปรับโครงสร้างกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตัวทางธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และยังสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันของบริษัท และเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการและการบริหารงานองค์กรของกลุ่มบริษัท และเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจออกจากกัน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การบริหารงานองค์กรเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”

สำหรับการ Spin off กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มายัง PJW AutoEV ถือเป็นการปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างความต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุคการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง PJW มีศักยภาพในการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและกลุ่มลูกค้าที่บริษัทเป็นผู้ผลิตให้ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเชื่อว่า เทรนด์การใช้รถ EV ในประเทศไทยสามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้อีกมาก จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

****

- Advertisement -