LEO เปิดผลงานงวดปี 2564 กำไรแตะ 198.8 ล้าน เพิ่มขึ้น 250% จากงวดเดียวกันปีก่อน รายได้ทะลุเป้าจากที่วางไว้ที่ระดับ 3 พันล้าน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากอัตราค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับสูง ปริมาณตู้สินค้าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 0.18 บาท/หุ้น ด้านผลงานปีนี้ตั้งเป้าโต 30-35% เดินหน้าต่อยอดธุรกิจ ลุย M&A ต่อเนื่อง ทั้งมีแผนเข้าซื้อกิจการผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย มุ่งผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2564 มีกำไรสุทธิ 198.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 56.9 ล้านบาท โดยกำไรในปี 2564 มีระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 3,369.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 198% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,129.1 ล้านบาท โดยสามารถทำรายได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของบริษัท และยังมีศักยภาพการเติบโตอีกมากในปี 2565
ส่วนงวดไตรมาส 4/64 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 76.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 449%จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเ 14 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,251.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 338 ล้านบาท และเป็นการทำสถิติทำกำไรสุงสุดต่อไตรมาสแบบออลไทม์ไฮต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ไตรมาสติดต่อกัน
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ผลจากความสามารถในการสร้างรายได้ทีมีการเติบโตทั้งจำนวนเงินและปริมาณการขนส่ง และกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ จึงทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือของบริษัทมีการเติบโตที่ดี ท่ามกลางสถานการณ์ในปี 2564 มีการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และผู้ส่งออกไม่สามารถหาพื้นที่บนเรือสำหรับการส่งออกสินค้า ทำให้อัตราค่าระวางที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีปริมาณตู้สินค้าที่ให้บริการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่10 พฤษภาคม และจ่ายเงินวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วหุ้นละ 0.07 บาท รวมทั้งปีเท่ากับ 0.25 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564
สำหรับภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ตั้งเป้าการเติบโตโดยมาจากธุรกิจเดิม 20-25% ถ้ารวมธุรกิจใหม่จะเติบโตประมาณ 30-35% โดยบริษัทยังเสริมความแข็งแกร่งในส่วนของการให้บริการอย่างครบวงจร ด้วยการเปิดให้บริการ LEO Self-Storage#2 และบริการลานรับฝากเก็บตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่สอง ในส่วนของ LEO Self-
Storage China Town สาขาที่ 2 ตั้งอยู่ ณ ตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง ใกล้เคียงกับย่านเยาวราช มีพื้นที่เพิ่มอีก 2,000 ตารางเมตร และสามารถให้บริการได้ทั้งห้องปรับอากาศและห้องธรรมดา มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันและปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของบริการลานรับฝากเก็บตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่สองของ YJCD นั้น จะตั้งอยู่ถนนบางนา กม. 21 โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงพื้นที่ และจะพร้อมให้บริการในช่วงไตรมาสที่ 2/65
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการขนส่งสินค้าทางรางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายัง สปป.ลาว ที่ China Post บริษัทรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ได้เป็น 1 ใน 5 ตัวแทนขนส่งสินค้าผ่านรถไฟความเร็วสูงลาว จีน ยุโรป ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องมาให้กับบริษัท เพราะบริษัทเป็น Exclusive Partner รายเดียวของ China Post ในประเทศไทย ซึ่งการจับมือกับ China Post ให้บริการขนส่งทางรางด้วยรถไฟความเร็วสูง ลาว จีน LEO ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาสินค้าจากประเทศไทยส่งไปยังประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าของบริษัทเป็นจำนวนมาก คาดว่ารายได้จากโครงการนี้จะเริ่มทยอยรับรู้เข้ามาในเดือนมีนาคมนี้ และค่อยๆ เติบโตขึ้นภายในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565
นอกจากนี้ ในปี 2565 ทาง LEO และ China Post ยังมีแผนที่จะเพิ่ม Capacity ของสายการบิน China Post Airline ที่บินระหว่างกรุงเทพฯ คุนหมิง เพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนเพิ่มเที่ยวบิน และนำเครื่องบินขนาดที่ใหญ่ขึ้นเข้ามาบินเสริมในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายนในปีนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมการเพิ่มยอดการส่งออกผลไม้ เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ไปยังประเทศจีน และทาง China Post ก็ยังมีแผนที่จะใช้ประเทศไทยเป็น Logistics Hub สำหรับการจัดส่งสินค้า E-commerce ใน ASEAN โดยจะทำคลังสินค้าเพื่อกระจายและจัดส่งสินค้า คาดว่าโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตธุรกิจโลจิสติกส์ของ LEO ให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อีกช่องทางหนึ่ง
“บริษัทยังเตรียมที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจผ่านแผนการทำข้อตกลงซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) นอกเหนือจากบริษัท เวิร์ลแอร์ โลจิสติกส์ จำกัด โดยมีแผนมองหาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ เวียดนาม เเละอินโดนีเซีย ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีความยั่งยืนให้บริษัทในระยะยาว” นายเกตติวิทย์ กล่าว
****