บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ประกาศเป้ารายได้ปี 65 เติบโต 15-20% มองสัญญานเศรษฐกิจฟื้นตัว เดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจสาหร่ายสแน็คปรับกลยุทธ์เน้น Go Firm นำธุรกิจสู่ระดับโลก ลุยเพิ่มยอดขายจากต่างประเทศ หลังสัญญานเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รับออเดอร์จากตลาดจีนเฉลี่ย 130-160 ตู้คอนเทนเนอร์ ในไตรมาส 1/65 ชี้แนวโน้มธุรกิจสาหร่ายฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ ส่วนผลงานปี 2564 มีรายได้จากการขาย 3,610.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 182.1 ล้านบาท มองผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ด้านบอร์ดฯ เคาะจ่ายเงินปันผลงวดปี 64 ในอัตรา 0.09 บาทต่อหุ้น เพื่อตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า จากปัจจัยลบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐได้ยกกระดับมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในพื้นที่เสี่ยง ทำให้มีผลกระทบต่อกำลังซื้อ และวิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้มีผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคสินค้าขนมขบเคี้ยว อย่างไรก็ตามในปีนี้ TKN คาดว่าตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวตามลำดับ

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20% จากปีก่อน ถือเป็นการกลับมาเติบโตใกล้เคียงกับปี 2563 หรือก่อนเกิดโรคโควิด-19 ที่มีรายได้ 3,983.1 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์อัตรากำไรสุทธิในปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นเลข 2 หลัก ตามการเติบโตจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยประเมินว่า ผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจากสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาส 4/2564 และบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันธุรกิจด้วยการทำกลยุทธ์ “Go Firm” ปรับองค์กรให้กระชับ คล่องตัว และรวดเร็วขึ้น (Lean) เพื่อลดต้นทุน ทำให้องค์กรปรับตัวและยืดหยุ่นรองรับแผนงานขยายธุรกิจใหม่และส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจเดิมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

“เรายังคงยึดเป้าหมายนำ TKN ไปสู่ระดับโกลบอล แม้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาจจะทำให้เป้าหมายชะลอไปบ้าง หลังจากมีต้นทุนการผลิตที่เป็น Fixed cost มีอยู่จำนวนหนึ่ง ในขณะที่ยอดขายไม่ได้เติบโตตามเป้า ส่งผลให้กำไรปรับลดลง ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้องค์กรกลับมาแข็งแรงและเติบโตขึ้น คือโจทย์สำคัญ ซึ่งเรายังคงเดินหน้าผลักดันสู่เป้าหมายด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. Go Firm การทำธุรกิจเดิมให้ดีขึ้น หาทางลดต้นทุนเพื่อพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง ถือเป็นหัวใจสำคัญ ด้วยการที่เราทำสิ่งที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วและทำให้ดียิ่งขึ้น 2. Go Board คือการขยายธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น โดยไม่ได้จำกัดการผลิตและจำหน่ายสินค้าในรูปแบบเดียว แต่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ และ 3. Go Global คือ การขยายตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อเป็นแบรนด์ระดับโลก ด้วยการพัฒนาระบบที่เป็นมาตรฐานสากล และทีมงานที่เป็นมืออาชีพจะทำให้ TKN สามารถก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลกได้” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเพิ่มยอดขายตลาดต่างประเทศ รับจังหวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน บริษัทฯได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้ปรับกลยุทธ์ใหม่และเพิ่มตัวแทนจำหน่าย (Distributor) เพื่อเจาะตลาดจีนให้ดียิ่งขึ้น โดยมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) และช่องทาง e-commerce ส่งผลให้ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนในไตรมาส 1/2565 เข้ามาไม่ต่ำกว่า 130-160 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ตลาดในสหรัฐอเมริกาประเมินว่ายังคงเติบโตได้ดี แม้มีแรงกดดันจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ค่าระวางขนส่งสินค้ายังอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับคู่ค้าเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดสหรัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับตลาดในประเทศ บริษัทฯ เตรียมพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ (NPD) อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอด สาหร่ายอบกรอบรสชาติใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สาหร่าย (Non-seaweed) รวมถึงเครื่องดื่มเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภค

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 3,610.9 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 182.1 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุก (Bubble and Seal) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในโรงงานทั้ง 2 แห่ง โดยคำนึงถึงความสำคัญของพนักงานอย่างสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนรวมถึงได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการทำกำไร พร้อมทั้งรักษากระแสเงินสดเพื่อจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมบอร์ดบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท จากผลการดำเนินงานปี 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 193.2 ล้านบาท โดยมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 จำนวน 0.05 บาท/หุ้น คงเหลือจ่ายปันผลจำนวน 0.09 บาท/หุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 8 มีนาคม 2565 และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

- Advertisement -