บล.หยวนต้า (ประเทศไทย):

Action BUY (Maintain)

TP upside (downside) +32.2%

Close Mar 16, 2022 Price (THB) 6.05

12M Target (THB) 8.00

Previous Target (THB) 8.00

What’s new?

  • ผลประกอบการ 4Q64 มีกำไรปกติ 13 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนปกติ 50 ล้านบาทใน 3Q64 และกำไรปกติ 11 ล้านบาทใน 4Q63 ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ของเรา หลักๆ มาจากรายได้กลุ่มโรงแรมที่ฟื้นตัวเด่น
  • คาด 1Q65 ถูกกดดันจากการระบาด Omicron แต่มาตรการที่ผ่อนคลายและการสนับสนุนของภาครัฐจะช่วยหนุนให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาเร่งตัวดีอีกครั้ง ตั้งแต่ 2H65 เป็นต้นไป

Our view

  • เราปรับปรุงประมาณการปี 2565/66 เล็กน้อย แม้ผลประกอบการใน 4Q64 จะออกมาดีกว่าคาด แต่เราเชื่อว่าบนประมาณการปี 2565/66 ของเรายังสมเหตุสมผล
  • เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 8.00 บาทต่อหุ้น อิง EV/EBITDA ที่ค่าเฉลี่ย กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่เดิมที่ 12x แต่ยัง Discount จากโรงแรมขนาดใหญ่ ที่เราให้ราคาเหมาะสมบนกรอบ +1.0SD

VRANDA RESORT ภาพปี 2565 ลุ้นการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม

ผลประกอบการ 4Q64 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ QoQ

VRANDA รายงานกำไรปกติใน 4Q64 ที่ 13 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนปกติ 50 ล้านบาทใน 3Q64 และกำไรปกติ 11 ล้านบาทใน 4Q63 ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ของเราที่คาดขาดทุน 23 ล้านบาท หลักๆ มาจากรายได้กลุ่มโรงแรมที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด สรุปสาระสำคัญดังนี้

1) ธุรกิจโรงแรมใน 4Q64 (50% ของรายได้รวม) รายได้อยู่ที่ 198 ล้านบาท (+247%QoQ, +15%YoY) ฟื้นตัว QoQ หนุนจากการคลาย Lockdown และการเข้าสู่ช่วง High Season ส่งผลให้ Occ. Rate ของกลุ่มปรับขึ้นเป็น 44% เทียบกับ 13% ใน 3Q64 และ 37% ใน 4Q63 รวมถึง ADR ปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง +14% QoQ, +11% YoY โรงแรมที่มีการฟื้นตัวเด่นยังคงเป็นโรงแรมที่พึ่งพานักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก แต่โรงแรมหลักอย่าง So Sofitel ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน 4Q64 ธุรกิจโรงแรมสามารถบันทึก EBITDA เป็นบวกที่ 65 ล้านบาท เทียบกับขาดทุน 5 ล้านบาทใน 3Q64

2) ธุรกิจพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ใน 4Q64 (38% ของรายได้รวม) รายได้อยู่ที่ 150 ล้านบาท (-3%QoQ, -46%YoY) ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ 3Q64 ตามสัดส่วนห้องที่รอโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการ Veranda Residence หัวหินมีจำนวนที่น้อยลง โดยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีกำไรขั้นต้นใน 4Q64 อยู่ที่ 37 ล้านบาท (-5%QoQ, -56%YoY)

3) รายได้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (9% ของรายได้รวม) อยู่ที่ 35 ล้านบาท (+73%QoQ, +1%YoY) ฟื้นตัว QoQ หนุนจากกลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานในร้านอาหาร

4) SG&A อยู่ที่ 82 ล้านบาท (+39% QoQ, -16%YoY) SG&A to sales อยู่ที่ 20.9% เทียบกับ 25.1% ใน 3Q64

ภาพรวมทั้งปี 2564 บริษัทฯ รายงานขาดทุนปกติ 107 ล้านบาท ดีกว่าคาดการณ์ของเราที่ขาดทุน 143 ล้านบาท จากธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด

ปี 2565 หวังการกลับมาของธุรกิจโรงแรม…แรงหนุนจากธุรกิจอสังหาฯ ลดลง

ธุรกิจโรงแรมคาดได้รับผลกระทบใน 1Q65 จากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron กดดัน Occ. Rate กลุ่มในเดือนม.ค.-ก.พ.65 ลดลงเหลือ 30% แต่ภาพการฟื้นตัวตั้งแต่ 2Q65 ยังเป็นไปได้สูง โครงการเราเที่ยวด้วยกันจะหนุนการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ ขณะที่ Test&Go ที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และแนวโน้มการเปิดประเทศมากขึ้นจะหนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะใน 2H65 ที่สถานการณ์ COVID-19 น่าจะผ่านจุดสูงสุดภายในประเทศไปแล้ว หนุนผลประกอบการของ So Sofitel (โรงแรมใหญ่สุดของกลุ่ม) ฟื้นตัวได้จากระดับ Occ. Rate ปัจจุบันเพียง 25%

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มี Backlogs โครงการ Veranda Residence หัวหิน ราว 300 ล้านบาท และเหลือขายอีกราว 200 ล้านบาท เราคาด VRANDA จะรับรู้รายได้ในปี 2565 ราว 300-400 ล้านบาท ขณะที่ความคืบหน้าการลงทุนที่ภูเก็ต (โรงแรม 160 ห้อง และอสังหาฯ) มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท คาดเปิดดำเนินการโรงแรม และเริ่มโอน Residence ได้อย่างเร็วใน 1Q67 ซึ่งรวมไว้ในประมาณการปี 2567 ของเราแล้ว อย่างไรก็ดี ในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายบนพื้นที่ที่ติดกับ Veranda Resort & Villas Hua Hin Cha Am (ขยายโรงแรมเพิ่ม 4 ห้อง และอสังหาฯ มูลค่าโครงการราว 340 ล้านบาท) แม้มูลค่าโครงการอสังหาฯ จะไม่สูงมาก แต่สามารถช่วยประคองรายได้ในปี 2565-66 ให้ยังมีแรงส่งจากธุรกิจอสังหาฯ อยู่บ้างในช่วงที่ธุรกิจโรงแรมเริ่มทยอยฟื้นตัว และรอธุรกิจอสังหาฯ กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในช่วงปี 2567

คงคำแนะนำ “ซื้อ” และราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 8.00 บาทต่อหุ้น

เรามีการปรับปรุงประมาณการปี 2565/66 เล็กน้อย คาดกำไรปกติ 54 ล้านบาทและ 132 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับประมาณการเดิม +4% และ +1% ตามลำดับ หลักๆ มาจากการปรับสมมติฐาน ADR และ Occ. Rate ของธุรกิจโรงแรม เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” และยังคงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 เท่าเดิมที่ 8.00 บาทต่อหุ้น  อิงค่าเฉลี่ย EV/EBITDA ย้อนหลัง 5 ปีของกลุ่มโรงแรมที่ 12 เท่า ต่ำกว่าหุ้นโรงแรมชั้นนำในกลุ่มที่เรากำหนดให้มีส่วนเพิ่ม +1.0SD เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดไทยที่จะช้ากว่าตลาดยุโรป และธุรกิจอสังหาฯ ที่เคยเป็นแรงหนุนสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะขาดความโดดเด่นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้

ความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1) การระบาด COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาด และ 2) การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ล่าช้ากว่าคาด

- Advertisement -