บล.พาย:
KBANK: ยังเติบโตแม้มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 174 บาท คำแนะนำซื้อสะท้อน 1) การเติบโตที่มั่นคงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น 2) สำรองหนี้ฯ ที่เพียงพอต่อหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และ 3) มูลค่าหุ้นที่ยังน่าดึงดูด มูลค่าพื้นฐานนี้คำนวณด้วยวิธี Gordon Growth Model (ROE 9% อัตราการเติบโต 2%) อิง 0.8x PBV’22E หรือคิดเป็น -0.75SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี
- คาดกำไรสุทธิโต 6% YoY (+14% QoQ) ใน 1Q22 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นหนุนจากสินเชื่อที่โตขึ้นและอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ปรับดีขึ้น
- คาดถึงผลกระทบเล็กน้อยจากการที่ S&P Global Rating ปรับลดอันดับจาก “BBB+” เป็น “BBB”
- แม้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ทิศทางกำไรของธนาคารมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้น
- คงประมาณการการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 13% สำหรับปี 2022 และ 10% สำหรับปี 2023
- มูลค่าหุ้นยังไม่แพง เพราะซื้อขายกันที่เพียง 0.7x PBV’22E หรือ -1SD ต่อค่าเฉลี่ยในอดีต
KBANK: Earnings preview
คาดถึงกำไรที่ดีใน 1Q22
- คาดกำไรสุทธิ 1Q22 ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท โต 6%YoY (+14% QoQ) การเติบโตในเชิง YoY ได้แรงหนุนจากรายได้ ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นจากสินเชื่อที่โตขึ้น (+7.3% YoY) ส่วนใน เชิง QoQ แม้คาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะลดลง แต่ประเมินว่ากำไรสุทธิของธนาคารจะโตขึ้น 14% QoQ สืบเนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง
- การเติบโตของสินเชื่อสุทธิในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ออกมาแข็งแกร่งที่ 1.7% (เทียบค่าเฉลี่ยของธนาคารจดทะเบียนในตลาดที่ +0.2%) โตขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2021 หนุนจากเศรษฐกิจทีฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดสินเชื่อทั้งหมดใน 1Q22 จะโตขึ้น 2% QoQ ส่วนในอนาคต แม้ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อาจส่งผลกระทบบ้าง แต่ยังคาดว่าธนาคารจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อทั้งปี 2022 ที่เราประเมินไว้ที่ 6% YoY ได้
- คาดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) จะทรงตัว QoQ ที่ 3.2% คาดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะลดลงเหลือ 41.6% ใน 1Q22 (4Q21: 48%) จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง
- คาด NPL ratio ที่ทรงตัว 3.8% ใน 1Q22 โดยคาดว่าอัตราการตั้งสำรองหนี้ฯ จะยังอยู่ในระดับสูงที่ 160% เพื่อความพร้อมในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น
KBANK: Mild impacts from S&P downgrade
ผลกระทบเล็กน้อยจากการปรับลดอันดับโดย S&P
S&P Global Ratings ลดอันดับ KBANK และ SCB ลงจาก “BBB+” เป็น “BBB” ปรับลด KTB และ TTB ลงจาก “BBB” เป็น “BBB-” ขณะที่ยังคงอันดับสำหรับ BBL และ BAY ที่ “BBB+”
แม้ต้นทุนดอกเบี้ยของ KBANK อาจปรับสูงขึ้นในอนาคต เมื่อทางธนาคารออกหุ้นกู้ใหม่ แต่คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในวงแคบ โดยคาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้น 300-400 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.6%-0.7% ต่อประมาณการกำไรของเราในช่วงปี 2022-24
คาดถึงการปรับลดประมาณการ GDP ไทยจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-เครน ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงอาจปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงเป็น 2%-2.8% YoY ในปี 2022 จาก 2.8%-3.8% YoY อิงจากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 15 มี.ค. และเพื่อสะท้อนถึงท่าทีดังกล่าว จึงคาดการเติบโตของสินเชื่อของ KBANK อาจออกมาต่ำกว่าประมาณการที่ 6% สำหรับทั้งปี 2022 ทั้งนี้ สมมติฐานของเราชี้ให้เห็นว่า กรณีที่การเติบโตของสินเชื่อลดลง 1% จะฉุดกำไรสุทธิปี 2022 ลง 1%
คาดกำไรสุทธิโต 13% YoY ในปี 2022 และโตต่อเนื่อง 10% ในปี 2023
คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2022-24 ตามเดิม ประเมินว่าการเติบโตจะได้แรงหนุนจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงและรายได้การดำเนินงานที่สูงขึ้น คาดอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) จะเพิ่มขึ้น 8.8%/9.1%/9.6% ในกรอบปี 2022-24 ตามลำดับ
KBANK: Revenue breakdown
รายได้ธนาคารมาจาก 3 แหล่งดังนี้
(1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิคิดเป็น 73% ของรายได้รวมในปี 2021 และนับเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดของธนาคาร ปัจจัยสนับสนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคือการเติบโตของสินเชื่อและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM)
(2) รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็น 22% ของรายได้รวมในปี 2021 ประกอบด้วยรายได้จากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ค่าธรรมเนียมการขายประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการสินทรัพย์
(3) รายได้อื่นๆ คิดเป็น 6% ของรายได้รวมในปี 2021 ประกอบด้วยกำไรการลงทุน กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินตามมูลค่ายุติธรรมที่บันทึกผ่านงบกำไรขาดทุน ค่าเบี้ยประกัน รายได้เงินปันผล และรายได้อื่นๆ