กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี พร้อมหั่นจีดีพีเหลือโต 3.2% รวมทั้งเพิ่มเป้าเงินเฟ้อพุ่งเป็น 4.9% มองส่งออกโต 7% พร้อมยืนยันไทยไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.2% จากเดิมคาด 3.4% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% จากเดิมคาด 4.7%

โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 66 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว โดยผลของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ และผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สำหรับการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 7% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5% และในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% ส่วนการนำเข้าในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 11.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 4.8% และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2% ส่วนนักท่องเที่ยวปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.6 ล้านคน และเพิ่มเป็น 19 ล้านคนในปี 2566

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปีนี้ จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดอยู่ที่ 2% จากเดิมคาด 0.4% ด้านปี 2566 คาดอยู่ที่ 1.7% จากเดิมคาด 0.7%

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ โดย กนง.คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้อยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาด 68.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทย ยังไม่ได้เข้าข่าย Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือไม่ขยายตัว หรือขยายตัวช้ามากและเป็นระยะเวลานาน รวมถึงมีแรงให้เงินเฟ้อสูงและสูงต่อเนื่อง โดยหากดูจากภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะพบว่า ไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ถึง 3.2% และปีหน้าขยายตัวได้ 4.4% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงเท่าปีก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่หลุดกรอบเป้าหมายด้านบนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรายงานสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว หากเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย 1-3% ในรอบ 1 ปี

“แนวโน้มในระยะสั้น ในไตรมาส 2 และ 3 เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และแรงกดดันที่ยังมีอยู่ แต่ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยกรรมการยังคงให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ราบรื่น ขณะเดียวกัน การจะส่งผ่านหรือการทำนโยบายกว่าจะเห็นผลจะต้องใช้เวลา 1 ปี คณะกรรมการมองตรงนี้ และมองภาพรวม มองทะลุเรื่องของการผันผวนของราคาในระยะสั้นได้ ซึ่งเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่งเริ่มฟื้น การที่จะฉุดเศรษฐกิจแรง เพื่อให้แค่เงินเฟ้อหล่นมาในกรอบ ถือว่าไม่คุ้ม และเป็นหลักของธนาคารกลาง ที่ควรมองทะลุจากปัจจัยอุปทานในระยะสั้น” นายปิติ กล่าว

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย โดยสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ ปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างและสร้างความไม่แน่นอนในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

*******

- Advertisement -