บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR:

จากแสงแห่งความหวังสู่เงามืดที่อาจมาเยือน (NEUTRAL)

แม้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมจะขยายตัวได้ดีในเดือนเม.ย. แต่เราเห็นสัญญาณเชิงลบจากดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง การค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น เรากังวลว่าปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเติบโตสินเชื่อสะดุด เราคงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคาร เลือก SCB และ TTB เป็นหุ้นเด่น

พอร์ตสินเชื่อธนาคารเติบโตได้ดีทั้งกลุ่มในเดือนเม.ย.

ธนาคารหลัก 7 แห่งมีพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 0.5% mom ในเดือนเม.ย. และขยายตัว 1.2% ytd แทบทุกธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อเติบโตยกเว้น TISCO ซึ่งกลับมาหดตัวลงต่อ BBL, KKP และ SCB คือกลุ่มที่รายงานการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อได้แข็งแกร่งในเดือนเม.ย. ในแง่ mom โดยสามารถขยายตัวได้ 1.1%, 1.1% และ 0.8% ตามลำดับ พอร์ตสินเชื่อ BBL ขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในเดือนเม.ย. หลังจากต้นปีที่ซบเซา ขณะที่พอร์ตสินเชื่อ TISCO กลับมาอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อโดยหดตัว 0.4% mom ในเม.ย. หลังสามารถขยายตัวในเดือนมี.ค. ด้าน TTB มีพอร์ตสินเชื่อเติบโตได้สองเดือนติดต่อกันแล้ว แต่ภาพ ytd ยังหดตัว 0.2%

ดัชนีภาคการผลิตลดลงต่อเนื่อง ข้อมูลในเดือนถัดไปต้องติดตาม

หากมองต่อข้างหน้า เรากังวลว่าแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย – ยูเครนและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องจะเริ่มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ เราเริ่มเห็นสัญญาณว่าดัชนีภาคการผลิตทั้วโลกมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมถึง MPI ของไทยซึ่งปรับตัวลดลง yoy ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แม้ตลาดคาดว่า MPI ในเม.ย. ของไทยซึ่งจะประกาศในจันทร์หน้า จะกลับมาขยายตัวได้ yoy แต่หากข้อมูลออกมาอ่อนแอกว่าคาดจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเนื่องจาก ทั้งราคาหุ้นและผลประกอบการกลุ่มธนาคารมีความเชื่อมโยงในระดับสูงกับภาวะทางเศรษฐกิจ

คงน้ำหนักการลงทุน เป็นกลาง แต่ให้มุมมองแนวโน้มเชิงลบ

เราคงน้ำหนักการลงทุน “เป็นกลาง” ต่อกลุ่มธนาคาร แต่ให้มุมมองแนวโน้มเชิงลบโดยเราเลือก หุ้นเด่น ของกลุ่มคือ SCB และ TTB เราเชื่อว่าภาพรวมกลุ่มธนาคารแม้ราคาหุ้นเริ่มมีอัพไซด์ valuation แต่เรามองว่าได้ยังไม่คุ้มเสี่ยง เนื่องจากเห็นปัจจัยกดดันภาคมหภาค จากสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่กระทบการค้าระหว่างประเทศ ลามมายังภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นแม้เห็นภาพเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ด้วยภาวะลักษณะนี้เรามองการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้อาจไม่ทำให้ NIM ขยายตัว เพราะธนาคารอาจส่งผ่านต้นทุนการเงินสูงที่ขึ้นไปให้กับลูกค้าได้ยากหรืออาจต้องแลกกับอุปสงค์สินเชื่อที่ลดลง

- Advertisement -