บล.พาย:
TU: บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป “รายได้ยังดี แต่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ”
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 22 ได้ที่ 20.4 บาท (16XPER’22E) ด้วยปัจจัยบวกจากฐานรายได้ที่ยังเติบโตดี โดยเฉพาะจากธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารสัตว์ ขณะที่ยังรักษาระดับกำไรขั้นต้นในระดับสูงได้ จากการปรับราคาสินค้าและต้นทุนปลาเริ่มลดลง แต่กำไรสุทธิอาจจะเห็นการอ่อนตัวลง เพราะมีรายการพิเศษเข้ามาค่อนข้างมากโดยเราคาดกำไรปกติที่ได้ที่ 1,615 ลบ. (-30%YoY,-11%QoQ) ประเมินรายได้เติบโตอีก 7%YoY และ 6%QoQ
- เราคาดว่ากำไรงวด 2Q22 อาจจะออกมาไม่ดีนักเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายจากการย้ายโรงงานในเยอรมันกว่า 300 ลบ. การบันทึกผลตอบจากหุ้นบุริมสิทธิใน Red Lobster ที่คาดว่าจะได้รับลดลงกว่า 600 ลบ. และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 300 ลบ. โดยคาดกำไรสุทธิไว้เพียง 1,015 ลบ. (-57%YoY,-42%QoQ) แต่ถ้าไม่ รวมกำไรปกติจะอยู่ที่ระดับ 1,615 ลบ. (-30%YoY,-11%QoQ)
- การลดลงแรงจากปีก่อนเกิดจากฐานที่สูงเพราะช่วง 2Q21 เป็นช่วงที่ทุกธุรกิจของ TU มีการเติบโตมาก แต่งวด 2Q22 ธุรกิจอาหารแช่แข็ง อาจจะไม่ได้ดีนักเพราะด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้สินค้าแพงร้านอาหารมีการหยุดขายเมนูที่มีราคาสูง ส่วนการลดลงจาก 1Q22 เกิดจากผลประกอบการของ Red Lobster ที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น
- อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารสัตว์ยังเติบโตดี และด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 10%YoY,4%QoQ (สกุลดอลลาร์) ทำให้รายได้รวมยังเติบโตได้ที่ 7%YoY,6%QoQ มาอยู่ที่ 38,373 ลบ.
- กำไรขั้นต้นยังอยู่ในระดับสูงที่ 17.5% จากการปรับราคาได้และต้นทุนปลาเริ่มลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารยังอยู่สูงจากปัญหาค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายย้ายโรงงานโดยคาดไว้ที่ 5,097 ลบ. (+19% YoY, +9%QoQ)
ปรับกำไรลง แต่ถ้าเทียบกับอดีตยังถือว่าสูง
- เราปรับกำไรปี 22 ลงจากเดิม 8% มาอยู่ที่ 6,303 ลบ. ด้วยการปรับเพิ่มผลขาดทุนจาก Red Lobster เป็น 1,000 ลบ. จากเดิม 700 ลบ. หลังแนวโน้มในช่วง 2Q22 ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เช่นเดิม เนื่องจากราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว อีกทั้งยังเป็นผู้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานได้ใหม่ที่ 20.4 บาท (16XPER’22E)
- ราคาทูน่าปรับลง แต่คาด 2H22 กลับไปปรับขึ้นอีกครั้ง ราคาทูน่าหลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบปีเดือน มี.ค. ที่ระดับ 1,900 เหรียญฯ/ตัน ราคาเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาถึงระดับ 1,425 เหรียญฯ/ตันในเดือน มิ.ย. ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากปริมาณการจับที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกให้กับ TU ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2H22 คาดว่าราคาจะปรับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,500-1,700 เหรียญฯ/สหรัฐฯ อีกครั้ง เพราะช่วงฤดูหยุดจับปลาในช่วงกลางปีและผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ
Revenue breakdown
โครงสร้างรายได้ของ TU แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
1.อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง (Ambient Seafoods)
และ 2.อาหารทะเลแช่แข็งเช่นกุ้งแช่แข็ง (Frozen Seafoods)
และ 3. อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอื่นๆ ขณะที่แหล่งที่มารายได้มาจากต่างประเทศเป็นหลักกว่า 89% โดยส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ตามมาด้วยยุโรปและญี่ปุ่น