บล.พาย: 

TISCO: บมจ. ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป – จิ๋วแต่แจ๋ว

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 106.00 บาท ชอบบริษัทตรงที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง และพื้นฐานแข็งแกร่ง กำไรสุทธิ 2Q22 ออกมาที่ 1.85 พันล้านบาท โตขึ้น 11%YoY (+3% QoQ) ดีกว่าคาด 6% คุณภาพสินเชื่อยังยืดหยุ่นดีด้วยอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูงพอรับมือกับความไม่แน่นอน

การประชุมนักวิเคราะห์

ให้น้ำหนักเป็นกลางต่อการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 ก.ค.

  • แม้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์มีการแข่งขันสูง แต่คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นใน 2H22 จากสภาวะขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปรับดีขึ้น บริษัทคาดสินเชื่อโต 3% YoY ในปี 2022
  • คาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีก 2-3 ปี และช่วยชดเชยผลกระทบเชิงลบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ซบเซาจากความผันผวนของตลาดทุน
  • ต้นทุนดอกเบี้ยน่าจะปรับสูงขึ้นใน 3Q22 สืบเนื่องจากโอกาสในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเดือน ส.ค.
  • แม้บริษัทไม่ได้ให้แนวทางตัวเลขการจ่ายเงินปันผลที่ชัดเจนในปี 2022 แต่คาดว่าบริษัทจะคงอัตราการจ่ายเงินปันผลระดับสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนจากฐานเงินทุนให้ได้มากที่สุด

ผลประกอบการ 2Q22

  • กำไรสุทธิ 2Q22 ออกมาดีที่ 1.85 พันล้านบาท โต 11% YoY (+3% QoQ) ดีกว่าคาด 6% การเติบโต YoY เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง ส่วนกำไรที่โตขึ้น 3% QoQ ได้แรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่โตขึ้นและกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่บันทึกตามมูลค่ายุติธรรมบนงบกำไรขาดทุนที่สูงขึ้น
  • คุณภาพสินเชื่อยังยืดหยุ่นดี ด้วยอัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ที่ทรงตัว QoQ ในระดับ 2.2% และอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูง 255% เพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

กำไรสุทธิโตปานกลาง

  • คงประมาณการว่ากำไรสุทธิจะโตปานกลางที่ 6% YoY ในปี 2022 และ 5% YoY ในปี 2023 จากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น และสินเชื่อที่โตมากขึ้น

คงคำแนะนำ “ซื้อ” เพราะอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูด

  • คงคำแนะนำ “ซื้อ” เพราะ 1) งบดุลที่ยืดหยุ่นด้วยอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูง และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งพอรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น 2) อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูดระดับ 8.7%-9.7% สำหรับปี 2022-24 และ 3) คาดกำไรสุทธิปี 2022-24 โตเฉลี่ยต่อปีระดับปานกลางที่ 6%
  • มูลค่าพื้นฐานคำนวณด้วยวิธี Gordon growth model (ROE 17.5%, การเติบโต 2%) อิง 2.0x PBV’22E คิดเป็น +0.5SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี (2017-2021)

สรุปผลประกอบการ 2Q22

  • กำไรสุทธิ 2Q22 ออกมาดีที่ 1.85 พันล้านบาท โต 11% YoY (+3% QoQ) ดีกว่าคาด 6% ได้แรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่โตขึ้นและกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่บันทึกตามมูลค่ายุติธรรมบนงบกำไรขาดทุนที่สูงขึ้น แม้รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงจากธุรกิจโบรกเกอร์และการบริหารจัดการสินทรัพย์ แต่กำไรสุทธิยังโตขึ้น 11% YoY จากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงอย่างมาก (-75% YoY) ส่วนกำไรที่โตขึ้น 3% QoQ เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่โตขึ้นจาก NIM ที่สูงขึ้น และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่บันทึกตามมูลค่ายุติธรรมบนงบกำไรขาดทุนที่สูงขึ้น
  • NIM โตขึ้น QoQ เป็น 5.1% หนุนจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น ในด้านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงเหลือ 46.5% สืบเนื่องจากรายได้การดำเนินงานที่สูงขึ้น
  • สินเชื่อลดลงเล็กน้อย 0.1% QoQ จากการปรับลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ แม้อุปสงค์ต่อสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SME ปรับสูงขึ้นก็ตาม
  • คุณภาพสินเชื่อยังยืดหยุ่นดี NPLs โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก NPLs กลุ่ม SME ในด้าน NPL ratio ค่อนข้างทรงตัว QoQ ที่ 2.2% ขณะที่อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 253% หรือสูงสุดในกลุ่ม และเพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

Revenue breakdown

รายได้ธนาคารมาจาก 3 แหล่งดังนี้

  • รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ คิดเป็น 66% ของรายได้รวมในปี 2021 และนับเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดของธนาคาร หากสินเชื่อและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) โตขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะโตขึ้นตาม
  • รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ คิดเป็น 30% ของรายได้รวมในปี 2021 ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์วาณิชธนกิจ ค่าธรรมเนียมประกันผ่านธนาคาร และกองทุนรวม
  • รายได้การดำเนินงานอื่นๆ คิดเป็น 4% ของรายได้รวมในปี 2021 มาจากกำไรการลงทุน กำไร/ขาดทุนสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่ประเมินบนพื้นฐานของมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้เงินปันผล และรายได้อื่น
- Advertisement -