บล.พาย:

CENTEL บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา “คาด CENTEL กลับมาทํากำไรใน 2Q22”

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 49.00 บาท คาดผลประกอบการพลิกเป็นกำไรที่ 57 ล้านบาทใน 2Q22 จากขาดทุน 44 ล้านบาทใน 1Q22 หนุนจากอัตราการเข้าพักที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งในธุรกิจโรงแรม (ไม่รวมดูไบ) เป็น 44% (29% ใน 1Q22) คาดอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืน (RevPar) ฟื้นตัวสู่ระดับราว 60% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (53% ใน 1Q22) ขณะที่คาดว่าธุรกิจอาหารจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่แข็งแกร่งระดับ 6.1% (10% ใน 1Q22) ท่ามกลางช่วงที่มีการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 และการทานอาหารในอาคารที่เพิ่มขึ้น แต่คาดว่า EBITDA margin ของธุรกิจอาหารจะยังซบเซาจากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวแข็งแกร่ง

  • คาดรายได้ธุรกิจโรงแรมแตะจุดสูงรอบ 9 ไตรมาสที่ 1.4 พันล้านบาท หนุนจากผลประกอบการที่ดีของธุรกิจโรงแรมในไทย เพราะคาดว่า RevPar สำหรับโรงแรมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะเพิ่มสี่เท่าจาก 2Q21 (48% และ 52% ของช่วงก่อนโควิด-19) หนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ และกลุ่ม MICE แต่ธุรกิจโรงแรมในไทยที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งน่าจะถูกหักลบโดยผลกระทบจาก RevPar ของธุรกิจโรงแรมในมัลดีฟส์ที่ลดลง 30% QoQ เพราะเข้าสู่ช่วง low season ใน 2Q22 ขณะที่คาด EBITDA จากธุรกิจโรงแรมโดยรวมจะปรับดีขึ้นเป็น 356 ล้านบาท จาก -295 ล้านบาทใน 2Q21 และ 324 ล้านบาทใน 1Q22
  • คาดรายได้ธุรกิจอาหารแตะจุดสูงรอบ 11 ไตรมาสที่ 2.9 พันล้านบาท (+ 24%YoY+11%QoQ) เพราะคาดว่า SSSG จะโตต่อเนื่องเป็น 6.1% เทียบกับ 0% และ 10% ใน 2Q21 และ 1Q22 ตามลำดับ หนุนจากจำนวนการทานอาหารในอาคารที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีร้านอาหารเกือบทั้งหมดปิดให้บริการตามมาตรการโควิด-19 แต่คาดว่า EBITDA margin จะลดลง YoY และ QoQ สู่จุดต่ำรอบ 7 ไตรมาสที่ 22.7% (23.8% ใน 1Q22) จากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น

คาดธุรกิจโรงแรมกลับมาทำกำไรใน 1Q23

เชื่อว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งภายใน 1Q23 อิงสมมติฐานที่รัดกุมว่า RevPar สำหรับธุรกิจโรงแรมไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับราว 70% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (อัตราการเข้าพักที่ราว 60%) บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวสู่ระดับเฉลี่ยที่ 1 ล้านราย/เดือน

แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 49.00 บาท

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐานที่ 49.0 บาท คำนวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) (WACC 8.2%) อิง 28.9x PE23E หรือคิดเป็นอัตราคิดลด 30% ต่อค่าเฉลี่ยกลุ่มโรงแรมไทยที่วิเคราะห์อยู่ คำแนะนำซื้อสะท้อนคาดการณ์การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของกำไรในปี 2022-23 บวกกับ upside จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2023. (28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าในปี 2019)

พรีวิวผลประกอบการ

  • คาดผลประกอบการพลิกเป็นกำไรที่ 57 ล้านบาทใน 2Q22 จากขาดทุน 606 ล้านบาทใน 2Q21 44 ล้านบาทใน 1Q22 การฟื้นตัว YoY และ QoQ นี้ได้แรงหนุนจากรายได้ที่คาดว่าจะออกมาอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท (+69%YoY +18%QoQ)
  • คาดอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ลดลง QoQ เหลือ 37.5% จากต้นทุนวัตถุดิบในธุรกิจอาหารที่สูงขึ้น
  • ปรับประมาณการกำไรสู่แดนบวกที่ 279 ล้านบาทสำหรับปี 2022 จากเดิมที่ขาดทุน เนื่องจากอัตราการเข้าพักในธุรกิจโรงแรมที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ขณะที่ปรับเพิ่ม GPM เป็น 38.2% จากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่สูงขึ้น แต่ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2023 ลง 6% เพราะคาดว่าผลกระทบจากกำลังซื้อคนไทยที่ฟื้นตัวช้าจะกดดันธุรกิจอาหารของบริษัท

Revenue breakdown

บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารและโรงแรม มีรายละเอียดดังนี้

  • ธุรกิจอาหาร ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,389 สาขาทั่วไทย ภายใต้แบรนด์ร้านอาหาร 15 แบรนด์ ดังนี้ KFC, Pepper Lunch, Auntie Anne’s, Mister Donut, Chabuton, Cold Stone, The Terrace, Yoshinoya, Ootoya, Tenya, Katsuya, Aroi Dee, Suki House, Soft Air, Kowlune a Salad Factory
  • ธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันมีโรงแรมทั้งหมด 15 โรงแรม จำนวน 4,155 ห้องในไทยและมัลดีฟส์ อีกทั้งบริษัทได้รับจ้างให้เป็นผู้ดำเนินกิจการและบริหารโรงแรมภายใต้สัญญาบริหารโรงแรม 23 โรงแรม จำนวน 4,041 ห้องในไทย เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย (บาหลี) โอมาน และกาตาร์ โดยโรงแรมทั้งหมดบริหารงานภายใต้แบรนด์ ดังนี้ Centara Reserve, Centara, Centara Grand, Centra by Centara, Centara Boutique Collection และ COSI
- Advertisement -