KBANK ประเมิน 1 เดือนนี้อาจเห็นบาทอ่อนค่าเฉียด 37 บาทต่อดอลล์ล่าร์สหรัฐ หลังดอกเบี้ยไทยยังไม่ขยับตามเฟด ชี้ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติทิ้งตราสารหนี้แล้ว 9.1หมื่นล้านบาท มองปีนี้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% แต่เชื่อจะขึ้นไม่ถึง 2.50% เหตุเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยคาดเห็นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/65 กาอนทยอยปรับลดลง หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยงานสัมมนา “ภาวะเศรษฐกิจโลกในวังวนเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจถดถอย” โดยระบุว่า KBANK ได้ปรับคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีนี้อ่อนค่าที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาด 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยสำคัญคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนไหลกลับเข้าไปในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาก โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าราว 10% ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าค่อนข้างมาก
“มองในช่วง 1 เดือนนี้ ค่าเงินบาทอาจจะแกว่งตัว 2 ช่วงที่ 36-36.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 36.50-36.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเพราะไทยยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ประเทศอื่นปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว” นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังมาจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลออกไปจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปัจจุบันต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยลดลงเหลือ 9.6 หมื่นล้านบาท จากต้นปีที่ถือครอง 1.87 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการโยกย้ายเงินทุนกลับไปเข้าดอลลาร์สหรัฐ และป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากเงินบาทอ่อนค่าลงมาก เพราะถ้าต่างชาตยังถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่จะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากถึง 5.2 หมื่นล้านบาท จากที่ต้นปีมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการดูแลค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพ และไม่อ่อนค่าจนเกินไป โดยมีการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทในบางช่วง ซึ่งได้มีการขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาราว 2.7 พันล้านบาท เพื่อปกป้องค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นของหลายประเทศ และการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรกตาม คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.25% และจะทยอยขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนพฤศจิกายนอีก 0.25% ทำให้สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.50% แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะไม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 2.50% เพราะเป็นระดับที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และเป็นความเสี่ยงต่อการถดถอยของเศรษฐกิจ
“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เพราะหลายประเทศก็ได้มีการผ่อนคันเร่งและเริ่มเหยียบเบรกแรงมากขึ้น จากการที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูง ทำให้หลายประเทศเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย และรอดูภาวะถดถอยของเศรษกิจที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งไทยก็ต้องเผชิญกับปัจจัยดังดล่าว ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 40 กว่าล้านคน แต่ปีนี้น่าจะราว 7 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่”
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยจะเห็นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/65 และจะทยอยปรับลดลง หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาบ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
*********