บล.พาย:

BANKING: เติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอน (OVERWEIGHT)

TOP PICK: BBL, SCB

แม้เผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนภายนอกกลุ่มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารใน 2Q22 ยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง 22% YoY แต่มีกำไรสุทธิที่ลดลง 2% QoQ จากความผันผวนของตลาดทุน ทั้งนี้ยังคงมุมมองว่าปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มธนาคารจะปรับดียิ่งขึ้นใน 3Q22 ด้วยการเติบโตของกำไรสุทธิที่สูงขึ้น และคุณภาพสินเชื่อที่ทรงตัว คาดกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มจะโต 14% YoY ในปี 2022 และ 11% YoY ในปี 2023 คงมุมมองเชิง “บวก” ต่อกลุ่ม เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้นเด่น

ผลประกอบการ 2Q22 ออกมาดี

ธนาคาร 7 แห่งที่วิเคราะห์อยู่รายงานกำไรสุทธิโดยรวมใน 2Q22 ที่ 4.25 หมื่นล้านบาท โต 22% YoY (-2% QoQ) สูงกว่าคาด 3% การเติบโต YoY เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นเพราะสินเชื่อที่โตมากขึ้น และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง ส่วนที่ลดลง QoQ เป็นเพราะรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูงขึ้น แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับสูงขึ้นก็ตาม กำไรสุทธิโดยรวมใน 1H21 โต 17% YoY เป็น 8.79 หมื่นล้านบาท หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้น และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ของกลุ่มทรงตัว QoQ ที่ 4% อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ สูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 166% พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

กำไรรายไตรมาสอาจแตะยอดสูงใน 3Q22

แม้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นบวกความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มธนาคารยังแข็งแกร่งพอรับมือกับปัจจัยความไม่แน่นอนภายนอก เพราะมีสำรองหนี้สูญมากพอบวกกับมีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (tier 1 ratio) ระดับสูง คาดกำไรสุทธิโดยรวมใน 3Q22 ปรับสูงขึ้นราว 20%-25% YoY จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นและการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง คาดกำไรสุทธิของกลุ่มใน 3Q22 อาจแตะยอดสูงของปีหากตลาดทุนผันผวนน้อยลง

เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้นเด่น

  • คงมุมมองเป็น “บวก” ต่อกลุ่มธนาคารเพราะ 1) กำไรสุทธิโตอย่างมั่นคง 2) งบดุลยืดหยุ่น (อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูง และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง) พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต และ 3) มูลค่าหุ้นที่ไม่แพง ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายของกลุ่มอยู่ที่ 0.7x PBV’22E หรือ -1.0SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี
  • ชอบกลุ่มธนาคารเพราะมีพอร์ตสินเชื่อที่กระจายความเสี่ยงดีขึ้น บวกกับประโยชน์ที่อาจได้รับจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นที่จะไปหนุนให้อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) โตขึ้น เลือก BBL (“ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 159.00 บาท) เพราะงบดุลที่แข็งแกร่ง กำไรสุทธิโตมั่นคง และมูลค่าหุ้นที่น่าดึงดูด ส่วนที่เลือก SCB (“ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 139.00 บาท) เพราะงบดุลที่ดีขึ้น พร้อมกับ upside ระดับสูง และความกังวลด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่อนคลายลง

TISCO และ TTB มีผลงานโดดเด่นทั้งในเชิง YoY และ QoQ ในช่วง 2Q22

  • ประทับใจกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและงบดุลที่มีเสถียภาพของกลุ่มธนาคารใน 2Q22 ที่คาดว่าจะช่วยให้กลุ่มธนาคารลดการตั้งสำรองหนี้ฯ ลง และกลับมาจ่ายเงินปันผลตามปกติได้ในปี 2022 แต่รายได้ค่าธรรเนียมที่โตช้า และความผันผวนในตลาดทุนยังเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรายได้กลุ่มลง
  • KKP, KTB, TISCO, และ TTB รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด สืบเนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง แต่กำไรสุทธิของ BBL และ KBANK ออกมาต่ำกว่าคาด เพราะการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูงขึ้น และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลง ขณะที่ TISCO และ TTB มีการเติบโตของกำไรสุทธิที่โดดเด่นทั้งในเชิง YoY และ QoQ
  • NIM ของกลุ่มโตเป็น 2.8% ใน 2Q22 โดย BBL, SCB, และ TISCO ต่างมี NIM ที่สูงขึ้นทั้ง YoY และ QoQ หนุนจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น และการคุมต้นทุนดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพ
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CIR) ของกลุ่มเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ สู่ระดับราว 44.6% สืบเนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะที่ SCB มี CIR ลดลงทั้ง YoY และ QoQ จากรายได้การดำเนินงานที่สูงขึ้น ต่างจากธนาคารอื่นที่มี CIR สูงขึ้น

Steady loan growth and stable asset quality

อุปสงค์และคุณภาพสินเชื่อทรงตัว

  • สินเชื่อโดยรวมโตต่อเนื่อง 1.2% QoQ ใน 2Q22 (1022: +0.9%) ทำให้โต 2% YTD ใน 1H22 ธนาคารส่วนใหญ่มีสินเชื่อที่โตขึ้น แต่สำหรับ KTB กับ TISCO ปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ KKP มีสินเชื่อที่โตโดดเด่น 2.8% QoQ และ 9.5% YTD ในเดือน มิ.ย. เทียบกับเดือน ธ.ค. 2021
  • คุณภาพสินเชื่อของกลุ่มยืดหยุ่นดี ด้วย NPL ratio ที่ค่อนข้างทรงตัว QoQ ในระดับ 4% โดย KTB, SCB, และ TTB มี NPLs ลดลง สำหรับอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ของกลุ่มทรงตัว QoQ ที่ 166% ใน 2Q22 โดย SCB มีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่สูงขึ้นมากที่สุดจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ส่วนเพิ่ม

คาด BBL, KBANK, SCB, และ KKP จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกมาตรการเพดานการจ่ายเงินปันผลของกลุ่มธนาคารที่ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิรายปีที่บังคับใช้ในช่วงปี 2020-21 ทำให้กลุ่มธนาคารกลับมาจ่ายเงินปันผลตามปกติได้ในปี 2022 ทั้งนี้โดยปกติแล้ว BBL, KBANK, SCB, และ KKP มักจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับการดำเนินงานในครึ่งปีแรก จึงคาด KKP จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 1.00 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 1.6% และคาดอัตราผลตอบแทนรายปีที่ 5.7% ในปี 2022
  • คาด TISCO จะให้ผลตอบแทนเงินปันผลรายปีสูงสุดที่ 8.6% ในปี 2022 แต่ไม่คิดว่าจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล
- Advertisement -