สรุปภาวะตลาด

วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกสลับลบ แกว่งตัวรอการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล เพื่อรอดูทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและติดตามการรายงาน และตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค.ของสหรัฐโดยหุ้นกลุ่มพลังงานและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวนำตลาด ส่งผลให้ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,644.78 จุด +1.26 จุด +0.08% มูลค่าการซื้อขาย 68,733 ลบ. ต่างชาติ-666.54 ลบ. TFEX +345 สัญญา ตราสารหนี้ +3,948.77 ลบ.

ปัจจัยบวก+

+ สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 93.06 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 2.9% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณว่า กลุ่มประเทศผู้โอเปกอาจจะปรับลดการผลิตน้ำมัน ขณะที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน และนักลงทุนปรับตัวรับคำเตือนของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เกี่ยวกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

+ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร และพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจาก ระดับ 4.8% ในเดือนมิ.ย.

+ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.2 ในเดือนส.ค. โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 55.1 จากระดับ 51.5 ในเดือนก.ค.

+ สศช.เผยอัตราการว่างงานใน 2Q65 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่โควิด-19 ระบาด โดยมีผู้ว่างงาน 550,000 คน คิดเป็น 1.37% ขณะที่ชั่วโมงการทํางานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงช่วงปกติ

+/- ศบค.รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) เพิ่มอีก 1,273 ราย เสียชีวิต 26 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 2,198 ราย

ปัจจัยลบ-

– ดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ -3.03% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 4.2% ตลาดถูกกดดัน หลังนายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องมีการคุมเข้มนโยบายไประยะหนึ่งก่อนที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง, ตลาดแรงงานอ่อนแอลง และส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

– นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ยังไม่สูงพอที่จะควบคุมแรงกดดันเงิน

– เรือรบของสหรัฐ 2 ลำได้แล่นผ่านช่องแคบระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งการแล่นเรือผ่านบริเวณดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงต้นเดือน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะก่อให้เกิดความขุ่นเคืองกับจีน ซึ่งอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

– รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือน ก.ค.65 ขาดดุลการค้า 3,660 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นเงินบาท 139,911.1 ล้านบาท ส่วนช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 65 ขาดดุลการค้า 9,916.3 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 417,939.1 ล้านล้านบาท สาเหตุที่ขาดดุลมาจากการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูง ตามการสูงขึ้นของตลาดโลก เช่น น้ำมัน และทองคำ

แนวโน้มตลาดวันนี้

คาดดัชนีในวันนี้มีโอกาสปรับตัวลงแรงตามทิศทางตลาดโลก โดยตลาดถูกกดดันหลังนายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องมีการคุมเข้มนโยบายไประยะหนึ่งก่อนที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง มองกรอบดัชนีในวันนี้ที่ 1,620-1,650 จุด

กลยุทธ์การลงทุน

  • ผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น : BH BDMS D
  • โครงการคนละครึ่งเฟส 5 : TNP KK BJC MAKRO CBG OSP TKN ICHI SAPPE
  • MSCI Global Standard เพิ่มหุ้นเข้าคำนวณ มีผล 31 ส.ค. : KBANK
  • ผลประกอบการหุ้นกลุ่มโรงแรมเริ่มฟื้นตัว+ขยายวีซ่านักท่องเท่ียว : MINT ERW CENTEL AWC SHR
  • วิกฤตพลังงานยุโรป : PRM VL BANPU LANNA PTTEP
  • แอปเปิล ประกาศจัดอีเวนต์ 7 ก.ย.เปิดตัว iPhone 14 : CPW SPVI COM7 SYNEX JMART

หุ้นรายงานพิเศษ

STARK “มุมมองบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการปี 65 และการเข้าลงทุนใน LEONI”

Bloomberg Consensus 6.50 บาท

  • งวด 2Q65 กําไร 691 ลบ. +32%YoY +21%QoQ รายได้เท่ากับ 7,332 ลบ. +40%YoY +19%QoQ เติบโตขึ้นจากทยอยส่งมอบงานโครงการภาครัฐและเอกชนตามแผนงาน ประกอบกับได้ผลบวกจากการปรับเพิ่มราคาขายสินค้า สะท้อนราคาทองแดงและอะลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้น ส่วน %EBITDA = 20.9% (2Q64 = 14.4%, 1Q65 = 19.1%) ปรับดีขึ้นจากการมุ่งเน้นสินค้ากลุ่ม High Margin
  • ผบห.คงเป้ารายได้ปีน้ีราว 3 หมื่นลบ. +11%YoY เติบโตจากธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิล โดย ณ สิ้นงวด 2Q65 มี Backlog กว่า 1.4 หมื่นลบ. (สัดส่วนหลักกว่า 55% อยู่ในกลุ่มสินค้า High Margin) ทยอยรับรู้ในช่วงที่เหลือของปีน้ี และยังมีอีกหลายงานที่อยู่ในระหว่างการประมูลเพิ่มเติมท้ังในและต่างประเทศ
  • การเข้าลงทุนในกิจการ LEONI จะทําให้บริษัทก้าวเป็นผู้นําอันดับ 1 ด้านการผลิตสายไฟและสายเคเบิลใน ASEAN และผู้ผลิตสายเคเบิลสําหรับยานยนต์และ EV charging อันดับ 1 ของโลก มีโอกาสเติบโตขึ้นอีกจากการ Synergy อาทิ การขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ ขอบเขตการขายในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงการแชร์และบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีการจัดประชุมในวันที่ 23 ก.ย.น้ี
  • ความเห็น เรามีมุมมองบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการปี 65 โดย Bloomberg Consensus คาดกําไรปีนี้ราว 3,572 ลบ. +28%YoY (1H65 กําไร 1,270 ลบ. คิดเป็น 35% ของประมาณการทั้งปี) นอกจากน้ี การเข้า ลงทุนใน LEONI จะช่วยต่อยอด New-S-Curve การเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต

หุ้นมีข่าว

(+) EA (Bloomberg Consensus 96.00 บาท) ครึ่งปีหลังผลงานสดใสธุรกิจอีวีทำเงิน ปีนี้มั่นใจส่งมอบ e-Bus ไม่ต่ำกว่า 1,000-1,500 คัน เล็งเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้า-รถกระบะไฟฟ้า ไตรมาส 4/2565 เดินแผน EA Ecosystem เน้นรถเชิงพาณิชย์ ขยายโรงงานแบตเตอรีปีนี้เป็น 2 GW มองโอกาสเทรดคาร์บอนเครดิต คงเป้ารายได้ปีน้ีโต 20% ครึ่งปีหลังแรงว่าครึ่งแรก (ที่มา ทันหุ้น)

(+) SYNEX (Bloomber Consensus 25.00 บาท) รับทรัพย์ธุรกิจไอทีเข้าไฮซีซัน ดันงบครึ่งปีหลังพีค แถมยิ้มรับกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ดันยอดขายพุ่งทะยาน มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10% ตามเป้า แถมแตกไลน์ร่วมทุนไซเบอร์ซีเคียวริตี้ต่อยอดเล็งขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม (ที่มา ทันหุ้น)

(+) CPALL (Bloomberg consensus 73.00 บาท) มั่นใจยอดขายต่อสาขาเติบโตต่อเนื่อง หนุนผลงานครึ่งปีหลังเด่น หลังโควิดคลี่คลายส่งผลให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ขณะที่นักท่องเที่ยวฟื้น เดินหน้าขยาย 700 สาขาต่อปีในและต่างประเทศ ชูเดลิเวอรีโตเฉลี่ย 10% ต่อสาขา ย้ำสภาพคล่องสูง เล็งศึกษาเข้าซื้อกิจการต่อยอด (ที่มา ทันหุ้น)

(+) PIMO (Bloomberg consensus – บาท) ส่งซิกเล็งผลิตมอเตอร์ EV รถบัส-รถบรรทุก แย้มเจรจาต่างชาติ ด้านบิ๊กบอส “วสันต์ อิทธิโรจนกุล” ลั่นออเดอร์ทะลัก ยอดชน 1.2 แสนลูกต่อเดือน จ่ออัพกำลังผลิต 30% วางงบลงทุนรวม 25 ล้านบาท ปักหมุดยอดขาย 1.2 พันล้านบาท (ที่มา ทันหุ้น)

ปัจจัยจับตาในประเทศ

  • สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค สํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม
  • 31 ส.ค. ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย
  • 29 ก.ย. ประชุมกนง.ครั้งต่อไป

ปัจจัยจับตาต่างประเทศ

  • 29 ส.ค. ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ มิ.ย.
    • สหรัฐเปิดเผยดัชนีการผลิตเดือนส.ค.จากเฟด สาขาดัลลัส
  • 30 ส.ค. อียูรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค.
  • 31 ส.ค. จีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการ เดือนส.ค. สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์
  • 1 ก.ย. จีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.จากไฉซิน
    • อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.
  • 20-21 ก.ย. ประชุม FED
- Advertisement -