บล.บัวหลวง:

Betagro Public Company Limited (BTG)

BTG – Thailand’s leading Agro & Food play (IPO)

สรุปประเด็นการลงทุน

มูลค่าหุ้นอยู่ในกรอบ 123,986 ล้านบาทถึง 147,250 ล้านบาท:

เราใช้ 6 วิธีในการประเมินมูลค่าหุ้น ณ สิ้นปี 2566 ของ BTG ซึ่งวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) เป็นวิธีที่ให้มูลค่าหุ้นสูงสุดที่ 147,250 ล้านบาท ตามมาด้วยวิธี sum-of-its-parts ซึ่งประเมินมูลค่าผ่านวิธี EV/EBITDA ได้มูลค่าหุ้นที่ 142,910 ล้านบาท วิธี PEG ของ Gordon ได้มูลค่าหุ้นที่ 134,822 ล้านบาท ในขณะที่วิธี EV/EBITDA ที่อิงกับหุ้นกลุ่มปศุสัตว์ที่เทียบเคียงกันได้มูลค่าหุ้นที่ 129,239 ล้านบาท วิธี PER ที่อิงกับหุ้นกลุ่มปศุสัตว์ที่เทียบเคียงกันได้มูลค่าหุ้นที่ 127,175 ล้านบาท และวิธีคิดลดเงินปันผล (DDM) ได้มูลค่าหุ้นที่ 123,986 ล้านบาท ซึ่งค่าเฉลี่ยของมูลค่าหุ้นของทั้ง 6 วิธีอยู่ที่ 134,231 ล้านบาท ซึ่งคิดกลับมาเป็น PER ปี 2566 ได้เท่ากับ 15.5 เท่า

อุปสงค์ส่งออกที่เพิ่มขึ้น จากความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และราคาปศุสัตว์ที่ยืนในระดับสูง:

อ้างอิงจากรายงานวิจัยด้านการตลาดของ Global Data (ซึ่งเป็นบริษัทที่วิเคราะห์ข้อมูลและให้คำปรึกษา) ประมาณการว่าการบริโภคเนื้อหมูในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 4.9% ในช่วงปี 2565-68 หลังจากที่ลดลง 16.7% ในช่วงปี 2563-64 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และการล็อคดาวน์ ซึ่งกดดันให้การบริโภคเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง การส่งออกไก่ไทยจะได้รับประโยชน์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ การแบนการส่งออกสัตว์ปีกในบางประเทศ และการกลับมาเปิดประเทศของหลายๆ ประเทศ เราคาดว่าการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ส่งผลให้จํานวนหมูลดลงมากถึง 30% ในปี 2565 (จาก 18.6 ล้านตัวในปี 2564 เหลือ 13 ล้านตัวในปี 2565) เราคาดว่าอุปทานหมูมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงแค่ 5% กลับไปที่ 13.7 ล้านตัวในปี 2566 ดังนั้นเราจึงคาดว่าภาวะการขาดแคลนอุปทานหมูจะยืดเยื้อและต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2566 นอกจากนี้ Global Data ได้ประมาณการการบริโภคไก่ไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วงปี 2565-68 ซึ่ง สอดคล้องไปกับอัตราการเติบโตของ GDP ต่อประชากร ทั้งนี้เราคาดว่าอุปทานไก่ไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก 35.3 ล้านตัว/สัปดาห์ ในปี 2564 ไปอยู่ที่ 36.5 ล้านตัว/สัปดาห์ ในปี 2565 (เพิ่มขึ้น 3.5%) และ 38 ล้านตัวในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 4%)

ช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย รวมถึงร้านค้าที่เป็นของตัวเอง:

เราเชื่อว่าช่องทางการจําหน่ายที่หลากหลายของ BTG จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ BTG ได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากความครอบคลุมลูกค้าทุกรูปแบบ (ทั้งตัวแทนจำหน่ายขายส่งและรายย่อย) ผ่านเครือข่ายร้านค้าที่เป็นของตัวเองและโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้บริษัทยังได้รับแรงสนับสนุนจากแบรนด์ของตนเอง และการขายผลิตภัณฑ์อาหารที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น และมีความผันผวนของราคาขายที่อยู่ในระดับต่ำ กลยุทธ์ของบริษัทสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายได้แก่ 1) การเพิ่มจุดในซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ผ่านบริการฝากขายเนื้อหมู 2) การขยายร้านขายเนื้อที่ถูกสุขอนามัยและช้อปเบทาโกรในประเทศไทย 3) การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้นกับโรงแรม เครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงเรียน และสายการบิน และ 4) ความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ต/เงินสด และซูเปอร์มาร์เก็ต

แบรนด์ระดับพรีเมียมที่น่าเชื่อถือพร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มตลาด:

แบรนด์ที่หลากหลายของ BTG สามารถรองรับทุกกลุ่มตลาดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้แก่ แบรนด์พรีเมี่ยม แบรนด์มาตรฐาน และแบรนด์ประหยัด บริษัทได้พัฒนาสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ มาตรฐานคือ BETAGRO ที่น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  และแบรนด์ S-Pure ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยมสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และแบรนด์ ITOHAM ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยมสำหรับไส้กรอกเกรดพรีเมี่ยม BTG วางแผนที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์หมูซึ่งให้อัตรากำไรในระดับสูง โดยจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ของ S-Pure (ผลิตภัณฑ์ S-Pure ทั้งหมดได้รับการรับรองจากสมาคม NSF ว่าไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นรายแรกของโลก) ที่มีการจัดจำหน่ายผ่านช่องทาง โมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ (บริการฝากขายเนื้อหมู) และร้านขายเนื้อหมูที่ถูกสุขอนามัย เราคาดว่าสัดส่วนของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แบรนด์พรีเมี่ยมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2562 ไปเป็น 20% ในปี 2569 จากธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง

แนวโน้มอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิที่จะเพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญเฉลี่ย 76% ในช่วงปี 2565-68:

สําหรับในปี 2565 เราคาดกำไรสุทธิที่ 7.77 พันล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 669% YoY โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการเติบโตของยอดขายที่ 25% YoY (หนุนโดยรายได้กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจในต่างประเทศ) อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง (จาก 13.1% ในปี 2564 ไปเป็น 19.5% ในปี 2565) โดยมาจากธุรกิจอาหารและโปรตีน และธุรกิจในต่างประเทศ บวกกับการปรับสัดส่วนยอดขายไปสู่สินค้า แบรนด์พรีเมี่ยมและแบรนด์มาตรฐานที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายที่ลดลงจากประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2566 เราคาดกำไรสุทธิที่ 8.66 พันล้านบาท เติบโต 11% YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากยอดขายที่เติบโต 14% (จากธุรกิจในต่างประเทศและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง) และการขยายตัวของ EBITDA margin อย่างต่อเนื่องจาก สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เราคาดอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิในช่วงปี 2565-68 ที่ 76% และของกำไรหลักในช่วงเวลาเดียวกันที่ 141%

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่ง:

สำหรับในปี 2565 เราคาดกระแสเงินสดจากการดำเนินงานขั้นต้น (gross operating cashflow) ของ BTG มีแนวโน้มเติบโต 174% YoY ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (net operating cashflow) มีแนวโน้มพลิกกลับไปเป็นบวก YoY ที่ 9.76 พันล้านบาทในปี 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจาก EBITDA ของธุรกิจอาหารและโปรตีนที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ทั้งนี้ เราคาดกระแสเงินสดจากการดำเนินงานขั้นต้นและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6% YoY และ 12% YoY ตามลำดับสำหรับในปี 2566 โดยมีปัจจัยหนุนจาก EBITDA ที่มีแนวโน้มขยายตัว 16% YoY ภายใต้สมมติฐานว่าเงินจาก IPO จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาทถูกนำไปใช้คืนหนี้ เราคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจาก 1.97 เท่า ณ สิ้น ปี 2564 เหลือ 0.49 เท่า ณ สิ้นปี 2565 และ 0.36 เท่า ณ สิ้นปี 2566

 

- Advertisement -