บล.เอเซีย พลัส:

ปูทาง

วานนี้ SCB แจ้งว่า ธปท. เห็นชอบให้ธนาคารฯ จ่ายเงินปันผล 6.1 หมื่นล้านบาท จากกำไรสะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SCBB โดยเงินจำนวนดังกล่าวทาง SCB จะใช้เป็นเงินลงทุนให้แก่บริษัทในกลุ่มจำนวน 12 บริษัท อาทิ AISCB, CARDX, AUTOX เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่บริษัทฯ เคยแจ้ง SET ก่อนหน้านี้

โดยฝ่ายวิจัยมองว่า 2-3 ปีข้างหน้า หากกลุ่มสินเชื่อ High yield สามารถเข้า IPO จนทำให้มีแหล่งเงินทุนของตนเอง ลดการพึ่งพากระแสเงินสดจาก SCB จึงคาดหมายการบริหารโครงสร้างเงินทุนของ SCB คล่องตัวมากขึ้น ทั้งขยายธุรกิจอื่นๆ หรือยกระดับนโยบายเงินปันผล ผลักดัน ROE ระยะยาวสูงขึ้น คงแนะนำ ซื้อ คาด DPS 1H65 ที่ 1.5 บาท กอปรกับราคาหุ้นมี PBV ซื้อขาย 0.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PBV ปี 2564 ที่ 0.87 เท่า ซึ่งเกิด COVID-19 ในไทย สวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

บ.ลูก PREPARE TO TAKE OFF

วานนี้ SCB (บริษัทฯ หรือ SCBx) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ธปท. เห็นชอบให้ธนาคารฯ (SCBB) จ่ายเงินปันผล 6.1 หมื่นล้านบาท จากกำไรสะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SCBB (SCBถือหุ้น SCBB อยู่ 99.06%) โดยเงินจำนวนดังกล่าวทาง SCBซื้อหุ้นบริษัทลูกจาก SCBB และ SCB10X และใช้เป็นเงินลงทุนให้แก่บริษัทในกลุ่มจำนวน 12 บริษัท อาทิ บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ (เดิมชื่อ SCBS), SCB10X รวมทั้งสินเชื่อกลุ่ม High Yield อย่าง AISCB, CARDX, AUTOX อีกทั้งตลาดสินเชื่อรถยนต์หรูอย่าง ALPHAX เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่บริษัทฯ เคยแจ้ง SET ก่อนหน้านี้

โดยฝ่ายวิจัยมองว่า 2-3 ปีข้างหน้า หากธุรกิจข้างต้น โดยเฉพาะ CARDX และ AUTOX สามารถเข้า IPO จนทำให้มีแหล่งเงินทุนของตนเอง ลดการพึ่งพากระแสเงินสดจาก SCB จึงคาดหมายการบริหารโครงสร้างเงินทุนของ SCB คล่องตัวมากขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจอื่นๆ หรือการยกระดับนโยบายการจ่ายเงินปันผล ช่วยผลักดัน ROE ในระยะยาวให้สูงขึ้น

สำหรับเงินปันผลระหว่างกาล เป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดการณ์เงินปันผลต่อหุ้น (DPS) 1H65 ที่ 1.5 บาท (Dividend payout ratio ที่ประมาณ 26% ใกล้เคียง 1H64) ส่วนทั้งปีคาด DPS ที่ 4.5 บาท เทียบเท่า Div Yield ราว 4% หากไม่รวม KKP และ TISCO ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจาก KTB

PBV ซื้อขายต่ำกว่าช่วง COVID สวนทางอนาคต

อิง GGM กำหนด ROE ระยะยาวที่ 10.2% และ COE ที่ 10.1% (RF ที่ 2% ใกล้เคียงพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี สอดคล้องกับการทำประมาณการกำไร 3 ปี) ให้ PBV ที่ 1 เท่า (ค่าเฉลี่ยปี 2562 ที่ 1.11 เท่า) ได้ FV ปี 2565 ที่ 140 บาท คงแนะนำ ซื้อ ชอบเพราะจุดยืนด้าน Fin tech ชัดเจน และการรุกธุรกิจใหม่ในกลุ่มสินเชื่อ High Yield ผ่าน Holding ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น กอปรกับราคาหุ้นมี PBV ซื้อขายราว 0.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PBV ปี 2564 ที่ 0.87 เท่า ซึ่งเกิด COVID-19 ในไทย สวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ประเด็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักต่อประมาณปี 2565 ของ SCB

NIM ลดลงต่ำกว่าคาด โดยทุกๆ 10 bps ของ NIM ที่ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปี 2565 ที่ 2.9% จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลงราว 3.5% จากปัจจุบันที่ 9.4 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2565 ลดลงราว 6.8% จากปัจจุบันที่ 3.8 หมื่นล้านบาท และ FV ต่ำลง จาก 140 บาทราว 3 บาท

กรณีที่สินเชื่อเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยทุกๆ 1% ของคาดการณ์สินเชื่อสุทธิปี 2565 ที่ลดลง จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลงราว 0.5% จากปัจจุบันที่ 9.4 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2565 ลดลงราว 0.6% จากปัจจุบันที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ส่วน FV คงเดิม

กรณีที่คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มแย่กว่าคาด โดยทุกๆ 10 bps ของคาดการณ์ Credit Cost ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ 145 bps จะทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มราว 7% จากปัจจุบันที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และทำให้กำไรสุทธิปี 2565 ลดลงประมาณ 5% จาก 3.8 หมื่นล้านบาท และ FV ต่ำลงจาก 140 บาทประมาณ 2 บาท

SCB แนะนํา ซื้อ

ราคาปัจจุบัน (บาท) 111.50

ราคาเป้าหมาย (บาท) 140.00

Upside (%) 25.6

Dividend yield (%) 4.0

- Advertisement -