บล.ฟินันเซีย ไซรัส: 

ILINK (ILINK TB):  บมจ. อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น

ปรับกำไรลงตาม ITEL และชอบ ILINK มากกว่า

งานก่อสร้างสายเคเบิ้ลไปยังเกาะเต่ามูลค่า 1.8 พันล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ หนุน Backlog แตะ 3.0 พันล้านบาท และเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนประมาณ 10-15% ใน 4Q22 รายได้ส่วนใหญ่จะอยู่ในปี 2023 นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าร่วมงานประมูลอื่นๆ แต่ไม่ได้มีปัญหาประมูลล่าช้า เหมือน ITEL จนทำให้เราปรับประมาณการและราคาเป้าหมายของ ITEL ลง และส่งผลต่อเนื่องมายังกำไรของ ILINK เราปรับกำไรของ ILINK ลงจากประมาณการเดิม 8%/10%/4% ในปี 2022-2024 ตามลำดับ แต่พบว่ากำาไรยังเติบโตสูงกว่าในอดีตมาก คาด +14.8% CAGR (2022-2024) ปรับราคาเป้าหมายของ ILINK ลงเล็กน้อยเป็น 11 บาท จากเดิม 12 บาท (SOTP) เรายังชอบธุรกิจของ ILINK ที่มีทิศทางสดใส จากความต้องการสายสัญญาณของตลาดสื่อสารอีกเป็นจำนวนมาก ราคาหุ้นปัจจุบันมี PE 11.7 เท่า คิดเป็น PEG เพียง 0.8 และจะยิ่งลดลงเหลือ 10.4 เท่าในปี 2023 และคาด Dividend yield 5 6% แนะนํา ซื้อ

คาดเซ็นสัญญางานเกาะเต่าภายในเดือน ก.ย. นี้ รับรู้รายได้บางส่วน 4Q22

งานก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งกฟภ.จัดประมูลไปเมื่อเดือน มี.ค. 2022 และ ILINK เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 1,786 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านบอร์ดชุดเล็ก และเตรียมเสนอบอร์ดชุดใหญ่ของ กฟภ. ในวันที่ 16 ก.ย. นี้ หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการประกาศผลไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งจะทำให้ Backlog ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,269 ล้านบาท แตะ 3.0 พันล้านบาท รองรับรายได้ 1.5-2.0 ปีข้างหน้า บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการเกาะเต่าบางส่วนราว 10-15% ตั้งแต่ 4Q22 โดยมีอายุงาน 18 เดือน แม้ว่าการรับรู้รายได้จากงานเกาะเต่าจะล่าช้าจากที่เราประเมินไป 1 ไตรมาส แต่เชื่อว่ามีโอกาสลุ้นรายได้ของงาน EPC ทั้งปีที่เราคาด 1.0 พันล้านบาท เพราะยังมีงานที่รอรับรู้ใน 2H22 อีกไม่ต่ำกว่า 430 ล้านบาท และมีงานที่เข้าร่วมประมูลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมูลค่าโครงการไม่ได้ใหญ่เท่ากับโครงการที่ ITEL เข้าร่วมประมูล จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการประมูลล่าช้าเหมือน ITEL

ปรับลดประมาณการตาม ITEL และชอบธุรกิจของ ILINK มากกว่า

เราปรับลดประมาณการรายได้ปี 2022-2024 ของ ITEL ลง 20%/15%/10% ตามลำดับ จากการประมูลงานภาครัฐที่ล่าช้า จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ILINK เพราะรายได้ของ ITEL มีสัดส่วนราว 53-55% ของรายได้รวมของ ILINK แต่อัตรากำไรขั้นต้นของ ITEL (21-22%) ต่ำกว่าธุรกิจ Distribution ของ ILINK (25-26%) ทำให้ประมาณการกำไรของ ILINK ลดลงในอัตราน้อยกว่ารายได้ โดยลดลงจากประมาณการเดิม 8%/10%/4% ในปี 2022-2024 เป็นการเติบโตเฉลี่ย 14.8% CAGR โดยที่การเติบโตที่สูงจะอยู่ในปี 2023 ขณะที่ปี 2022 เราคาดกำไรขยายตัวเพียง 6.5% Y-Y อย่างไรก็ตาม เรายังชอบธุรกิจ Distribution ของ ILINK ที่มีแนวโน้มสดใสจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดอุปกรณ์สื่อสารกลุ่ม Fiber optic cable และ Solar cable และการสื่อสารปัจจุบันที่ต้องการความเร็ว การส่งสัญญาณจำนวนมาก และไม่มีความหน่วง (Latency) ยิ่งทำให้ความต้องการระบบสายสัญญาณเพิ่มสูงขึ้น

ปรับราคาเป้าหมายลงเล็กน้อยเป็น 11.00 บาท ยังคงแนะนำ ซื้อ

แนวโน้มกำไรใน 2H22 จะเร่งตัวจากฤดูกาลทั้งของ ITEL และ ILINK เราคาดเบื้องต้นกำไรสุทธิ 2H22 อยู่ที่ 200.0 ล้านบาท +13.5% H-H, +1.6% Y-Y กำไรที่เติบโตไม่สูงนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จำนวนมากของ ITEL ที่เลื่อนมาเข้าใน 4Q22 ทำให้ฐานกำไร 4Q22 สูงกว่าปกติ ทั้งนี้ จากการปรับลดราคาเป้าหมายของ ITEL ทำให้ราคาเป้าหมายของ ILINK ที่ประเมินด้วยวิธี Sum of-the-parts ลดลงจากเดิม 1.00 บาทเป็น 11.00 บาท (13x ILINK’s EPS, ITEL’s TP 5.50 บาท) ราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น PE 11.7 เท่าในปี 2022 และลดเหลือ 10.4 เท่าในปี 2023 และคาด Dividend yield 5-6% ต่อปี เรายังคงชอบ ILINK จากการเติบโตของธุรกิจสายสัญญา และ Valuations ที่ถูก ยังคงแนะนำ ซื้อ

Company Overview

กลุ่มบริษัท ILINK เริ่มก่อตั้งในปี 1987 โดยเริ่มต้นประกอบธุรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น สายคอมพิวเตอร์ สาย Printer แผ่น Diskette ตลับผ้าหมึก (Ribbon Cartridge) เป็นต้น ต่อมาผู้บริหารได้นำสาย LAN (Local Area Network) จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยเป็นรายแรกและต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน กลุ่ม ILINK ประกอบ 3 ธุรกิจหลักได้แก่

1) ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณและอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Distribution) ดำเนินงานโดย ILINK ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรทั้งสาย LAN, สาย Fiber optic, สาย Coaxial, สายโทรศัพท์, สาย Solar Cables เป็นต้น แบรนด์ชั้นนำของโลก ได้แก่ LINK และ COMMSCOPE (เดิมชื่อ AMP) จากสหรัฐ และตู้ 19″ Rack สําหรับใส่คอมพิวเตอร์ Server และ Data center เป็นต้น

2) ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ดำเนินงานโดย ITEL ซึ่งให้บริการ Data services, Installation และให้บริการเช่าพื้นที่ Data center

3) ธุรกิจวิศวกรรม (Engineering) ดำเนินงานโดย บจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง ให้บริการ Turnkey project ตั้งแต่ ออกแบบ ก่อสร้าง จัดหา ติดตั้ง และบำรุงรักษา เน้นงานวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น Submarine cable, Underground cable, Transmission line, Power substation

ESG

Environment

  • ILINK ได้จัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงานเพื่อปลูกจิตสำนึก และให้ความสําคัญต่อการอนุรักษ์ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจให้พนักงาน โดยจัดตั้งคณะทำงานให้รับผิดชอบในเรื่องของแผนการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดแนวทางต่างๆ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน
  • บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจต่อการอนุรักษ์พลังงาน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ด้วยการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Social

  • บริษัทให้ความสำคัญต่อบุคลากร เพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ บริษัทมีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความชานาญ ในการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริษัทมีการดูแลพนักงานที่มีความสามารถ และมีศักยภาพสูงในการทํางาน โดยให้โอกาสในการก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และกำหนดให้มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปี

Governance

  • บริษัทได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Policy) ซึ่งแสดงถึงแนวทางในการกำกับดูแลกิจการ และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ริเริ่ม และมีส่วนร่วมในการจัดทำและอนุมัตินโยบายการกํากับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้บริษัทมีระบบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • คณะกรรมการบริษัทมีความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม  เนื่องจากตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในอำนาจการดำเนินงาน บริษัทจึงได้แยกอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ออกจากกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส

Valuation Methodology

เราประเมินราคาเป้าหมายของ ILINK ที่ 11.00 บาท ด้วยวิธี Sum-of the-parts โดยอิง PE 13.0 เท่าสำหรับธุรกิจ Distribution และ EPC ของ ILINK ตามอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไร และอิงราคาเป้าหมายของ ITEL ที่ 5.50 บาท (PE 32x, PEG 0.9) คำนวณตามสัดส่วนที่ ILINK ถือ ซึ่งอยู่ในช่วง 49-51% และใช้ discount 20% สำหรับมูลค่าของ ITEL

ปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

ความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า

บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling) อยู่ 2 แบรนด์หลัก ได้แก่ LINK และ COMMSCOPE (เดิมชื่อ AMP) โดยมีสัดส่วนการขายสินค้าแบรนด์ LINK ประมาณ 60% ของรายได้จากธุรกิจ Distribution ทั้งนี้ บริษัทได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ LINK แต่เพียงผู้เดียวในไทย (Exclusive Distributor) ส่วนสินค้าแบรนด์ COMMSCOPE บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่าย Authorized Distributor หากผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ไม่ต่อสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้แก่บริษัท อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและผลกำไรของบริษัท บริษัทอาจต้องจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งอาจมีคุณภาพไม่ทัดเทียมรายเดิม หรืออาจไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าลดปริมาณการสั่งซื้อ และกระทบยอดขายของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “LINK” ภายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ทำให้บริษัทสามารถจัดหาผู้ผลิตรายอื่นในการผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “LINK” เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศแทนผู้ผลิตรายเดิมได้

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บริษัทต้องสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าในต่างประเทศ และต้องชำระค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เป็นต้น จึงอาจเกิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินมีความผันผวน หรือหากค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก อาจทำให้ต้นทุนสินค้าของบริษัทสูงขึ้น

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค

เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของลูกค้าและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท

ความเสี่ยงจาก Supply chain

บริษัทอยู่ใน Supply chain ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดหาสินค้า จนถึงการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า การบริหารโลจิ สติกส์ที่ดีจะส่งผลให้การลดการสูญเสียในกระบวนการ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ สามารถคาดการณ์ได้ เช่น ภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งของแรงงาน การล้มละลายของผู้ส่งมอบ ภัยสงคราม เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรค เกิดการหยุดชะงักหรือความล่าช้าในการรับสินค้าหรือส่งมอบสินค้า ซึ่งอาจ กระทบยอดขายและต้นทุนของบริษัท

- Advertisement -