บล.บัวหลวง:

JASIF – BBL ยอมลดอัตราดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาจ่ายเงินต้น

What’s new?

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2022 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของ JASIF ได้แจ้งตลาดฯ ว่าอยู่ระหว่างดำเนินงานประสานงานกับ BBL เพื่อขอผ่อนผันข้อกำหนดตามสัญญาสินเชื่อเพื่อให้ JASIF สามารถดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (“AWN”) ในการแก้ไขสัญญาจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัทได้หารือกับ BBL เพิ่มเติมเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาสินเชื่อดังต่อไปนี้

Highlights:

  • ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสัญญาสินเชื่อเนื่องจากเปลี่ยนผู้สนับสนุนหลักมาเป็น AWN ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง โดยจะลดชำระเงินต้นลง 1.1 พันล้านบาท/ปีในช่วง ปี 2023-24 ลดลง 1.2 พันล้านบาทในปี 2025 ลดลง 950 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2026-27 และเลื่อนไปจ่ายเงินต้นเพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2028-29 และจ่ายก้อนใหญ่จำนวน 2.4 พันล้านบาทในปี 2031 และ 2.7 พันล้านบาทในปี 2032
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจากเดิม MLR เหลือ MLR-0.5% (หรือลดลง 0.5%)
  • BBL จะคิดค่าธรรมเนียมการขยายระยะเวลาชำระหนี้เท่ากับ 0.5% ของภาระหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2022 ซึ่งคาดไว้ที่ 1.33 หมื่นล้านบาท (หรือค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย 67 ล้านบาท)

View From Fundamental:

  • เราประเมินว่าเงื่อนไขข้างต้นถือว่าดูดีขึ้น ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (ไม่ใช่การลดมูลหนี้) ออกไป และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงจากเดิม ถ้าอ้างอิงจากตารางที่ 1 เราประเมินว่าการยืดการชำระเงินต้นจะส่งผลให้กระแสเงินสดรับสุทธิเพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านบาทปี 2023 (หลังหักค่าธรรมเนียมขยายเวลาชำระหนี้อีก 67 ล้านบาทในปี 2023) เพิ่มขึ้น 1.17 พันล้านบาทในปี 2024 เพิ่มขึ้น 1.27 พันล้านบาทในปี 2025 และเพิ่มขึ้น 950 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2026-27 และจะกลับไปเป็นกระแสเงินสดจ่ายสุทธิหรือลดลง 100 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2028-29 และลดลง 2.4 พันล้านบาทในปี 2031 และลดลง 2.7 พันล้านบาทในปี 2032 จากการจ่ายภาระหนี้ก้อนใหญ่ใน 2 ปีสุดท้าย ในขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มลดลง 60-67 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2023-27 และลดลงอีก 7-53 ล้านบาท/ปีในช่วงปี 2028-32 ดังนั้นถ้าคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของกระแสเงินสดรับในช่วงปี 2023-27 และกระแสเงินสดจ่ายในช่วงปี 2028-32 เราประเมินว่าจะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ได้เท่ากับ 1.81 พันล้านบาท (หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มอีก 0.23 บาท/หน่วย) เนื่องจากเป็นการยืดจ่าย (จ่ายน้อยในช่วงเริ่มต้นและไปจ่ายเยอะขึ้นในช่วงปีท้ายๆ) ไม่ใช่การลดมูลหนี้เงินต้น ดังนั้นผลกระทบต่อมูลค่า DCF จึงไม่มากนักคิดเป็นแค่ 1.8%
  • ภายใต้สมมติฐานถ้ารวมสองเงื่อนไขเข้าด้วยกัน ได้แก่ เงื่อนไขข้างต้นบวกกับเงื่อนไขก่อนหน้าของการเร่งจ่ายค่าเช่าบางส่วนให้เร็วขึ้นจากปี 2030-37 มาเป็นในช่วงปี 2023-25 แทน เราประเมินว่ากระแสเงินสดรับสุทธิภายใต้ทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันจะเพิ่มขึ้น 2.1 พันล้านบาทใน ปี 2023 เพิ่มขึ้น 2.17 พันล้านบาทในปี 2024 และเพิ่มขึ้น 2.27 พันล้านบาทในปี 2025 ซึ่งถ้าใช้สมมติฐานอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 100% เราประเมินว่าจะส่งผลให้เงินปันผลต่อหน่วยเพิ่มขึ้นอีก0.26 บาท/หน่วยในปี 2023 เพิ่มขึ้นอีก 0.27 บาท/หน่วยในปี 2024 และเพิ่มขึ้นอีก 0.28 บาท/หน่วยในปี 2025 ก่อนที่เงินปันผลต่อหน่วยจะกลับไปเพิ่มขึ้นแค่ 0.13 บาท/หน่วยในช่วงปี 2026-27 และจะเริ่มกลับไปลดลงตั้งแต่ปี 2028-37 เราประเมินมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ภายใต้สองเงื่อนไขรวมกันได้เท่ากับ 3.02 พันล้านบาท (หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มอีก 0.38 บาท/หน่วย)
  • เรามองว่านักลงทุนระยะยาวที่ถือ JASIF เกิน 3 ปีจะยังคงต้องเผชิญกับเงินปันผลต่อหน่วยที่จะลดลงตั้งแต่ปี 2028 เป็นต้นไป และจะลดลงอย่างมากในช่วงปี 2031-32 ดังนั้นถ้าคำนวณกลับมาเป็น NPV แล้ว มูลค่าเพิ่มจึงอยู่เพียงแค่ 0.38 บาท/หน่วย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่ถือไม่เกิน 3 ปี อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่จะเพิ่มขึ้นอีก 3% ต่อปีในช่วงปี 2023-25 อาจจะทำให้นักลงทุนรับได้กับสองเงื่อนไขใหม่ข้างต้น
  • เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” JASIF ที่ราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF ที่ 12.60 บาท/หน่วย ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิมของสัญญาเช่าที่ไม่ได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเงื่อนไขของการแก้ไขสัญญาเช่าข้างต้นภายใต้สองเงื่อนไขข้างต้นเกิดขึ้นจริง ราคาเป้าหมายใหม่มีแนวโน้มปรับลดลงไปอยู่ที่ 9.65 บาท/หน่วย
- Advertisement -