บล.บัวหลวง:

Electronics – เข้าสู่ช่วง Inventory correction

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงที่เกี่ยวโยงกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก การเกิด Inventory correction ได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/65 และยังคงดำเนินต่อไป โดยเราคาดจะเห็นผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ดังนั้น แนวโน้มของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาส 4/65 – ครึ่งแรกของปี 2566 จึงยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งโอกาสที่ผ่านจุดพีคไปแล้ว และการปรับประมาณการกำไรขึ้นที่จํากัดอาจจะกดดัน แนวโน้มในไตรมาส 4/65 – ปี 2566

เช็คอุปทาน

โลกยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโควิดในประเทศจีน ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสําหรับผลิตภัณฑ์หลายอย่าง และยังคงส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการขาดแคลนชิปมีแนวโน้มที่จะยังคงยืดเยื้อไปในครึ่งหลังของปี 2565 อย่างไรก็ตาม กลุ่มชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยมีแผนรองรับได้ค่อนข้างดี เช่น การกระจายซัพพลายเออร์และการรักษาสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาขายต้องปรับตัวขึ้นตาม แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ (ราว 10% YoY และ 5% QoQ) จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านอัตรากำไร

เช็คอุปสงค์

ในด้านของอุปสงค์ เราจําเป็นต้องจับตามองแนวโน้มของยอดขายในตลาดปลายน้ำ อิงจากข้อมูลการคาดการณ์ติดตามโทรศัพท์มือถือรายไตรมาสทั่วโลกล่าสุดของทาง อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (IDC) คาดการส่งสมาร์ทโฟนปรับตัวลง 6.5% YoY ในปี 2565 เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาคและความท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ ที่กดดันอุปสงค์อย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับกลุ่มยานยนต์ ปัญหาเงินเฟ้อเหมือนจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในหมู่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์กำลังปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ผลผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สําหรับผู้บริโภคและ PC กำลังชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ของการอยู่บ้านที่ลดลงและสินค้าคงคลังที่สูง งบการลงทุนด้านคลาวด์น่าจะยังแข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2565 แต่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 (คล้ายกับรูปแบบในปี 2561)

การปรับคลังสินค้าเริ่มขึ้นแล้วในไตรมาส 2/65 (น่าจะเริ่มที่สินค้าบางอย่างในไตรมาส 3/65) ในระหว่างนี้จะไม่มีผลกระทบต่อค่าสั่งซื้อของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากนัก อย่างไรก็ตาม เราคาดจะเห็นผลกระทบที่มีนัยยะสําคัญจากการปรับคลังสินค้าของลูกค้าในครึ่งแรกของปี 2566 (ช่วงเวลาสําหรับการเจรจาคำสั่งซื้อใหม่ๆ ในปี 2566)

ครึ่งหลังของปี 2565 จะยังคงเติบโต YoY

ในไตรมาส 3/65 เราคาด DELTA จะเป็นผู้นำการเติบโต หนุนมาจากสินค้าด้าน data center ระดับบน (โตต่อเนื่องมาจากไตรมาส 2/65) เครื่องจักรใหม่ๆ ของ KCE กำลังทำงานอย่างราบรื่น ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะผ่านจุดพีคไปแล้ว และค่อยๆ ปรับตัวลง ดังนั้น กําไรของ KCE ในไตรมาส 3/65 มีแนวโน้มที่จะเติบโต YoY และ QoQ เราคาดยอดขาย ของ SVI จะเติบโต YoY (จากการรับรู้ Tohoku) และ QoQ (คำสั่งซื้อที่แข็งแกร่งสําหรับผลิตภัณฑ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรม) อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 3/65 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง YoY จากอัตรากำไรขั้นต้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ ยอดขายของ HANA จะปรับตัวขึ้นในไตรมาส 3/65 แต่อัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลง YoY จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการขาดทุนจากธุรกิจ SiC เราคาดกำไรหลักจะปรับตัวลง YoY แต่ขึ้น QoQ สำหรับไตรมาส 4/65 เราคาด HANA จะเป็นผู้นำการเติบโต เนื่องจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 4/64 (การขาดทุนจากการลงทุนอย่างมากที่รับรู้ในไตรมาส 4/64) คาด DELTA และ KCE จะยังคงรายงานกำไรที่ เติบโต YoY ในไตรมาส 4/65 จากคำสั่งซื้อที่แข็งแกร่ง ขณะที่คาดกำไรของ SVI น่าจะปรับตัวลง YoY ในไตรมาส 4/65 จากอัตรกำไรขั้นต้นที่ต่ำลง

- Advertisement -