บล.บัวหลวง:

Agro & Food – ลานีญ่าครอบงำถึงปลายปี 2565 ตามด้วยภาวะอากาศที่เป็นกลางในครึ่งแรกปี 2566 (NEUTRAL)

เรามองว่าโอกาสของการเกิดลานีญ่าที่ปรับเพิ่มขึ้นในรายงานเดือน ก.ย. เป็นแค่ผลกระทบระยะสั้น เนื่องจากความแรงของลานีญ่าจะต่อเนื่องไปจนถึงแค่สิ้นปี 2565 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่ภาวะอากาศที่เป็นกลางในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และเนื่องจากการปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันได้เข้าสู่ช่วงของการเก็บเกี่ยวในเดือน ก.ย.-ต.ค. เราจึงมองว่าลานีญ่าที่ปรับเพิ่มขึ้นแทบจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ในรอบนี้แต่อย่างใด  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศอาร์เจนติน่าและบราซิลทางตอนใต้ คาดว่าจะเผชิญกับภาวะภัยแล้งเช่นที่เคยมีมา และถึงแม้ว่าราคาถั่วเหลืองโลกอาจจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่เรามองว่าอัตรากำไรจากการสกัดถั่วเหลืองมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถผลักภาระต้นทุนเมล็ดถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นไปยังราคากากถั่วเหลืองให้เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ทั้งนี้ภัยแล้งทางตอนใต้ของประเทศบราซิลจะเป็นปัจจัยที่ยังคงหนุนราคาน้ำตาลโลกให้ยืนในระดับสูง โดยเรายังคงคําแนะนํา “ถือ” หุ้น TVO และ “ชื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL

ปรับโอกาสการเกิดลานีญ่า; ลานีญ่าครอบงำระยะสั้นจนถึงสิ้นปี 2565

อ้างอิงจากรายงานการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า (ENSO)” เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ ได้ปรับโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าเพิ่มขึ้นอีก 17% ในไตรมาส 3/65 จาก 80% (ในรายงานเดือนส.ค.) ไปเป็น 97% (ในรายงานเดือนก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้นอีก 10% ในไตรมาส 4/65 จาก 79% ไปเป็น 89% และปรับเพิ่มขึ้นอีก 7% ใน ไตรมาส 1/66 จาก 47% ไปเป็น 54% ดังนั้นปรากฏการณ์ลานีญ่าจะ ครอบงำสภาพอากาศโดยรวม โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3/65 ไปจนถึงไตรมาส 4/65 ด้วยโอกาสของการเกิดลานีญ่าที่สูงถึง 89-97% ก่อนที่จะอ่อนตัวลงไปเหลือ 54% ในไตรมาส 1/66 และ 16% ในไตรมาส 2/66 ในทางตรงกัน ข้าม ปรากฏการณ์ภาวะอากาศที่เป็นกลางจะเข้ามาแทนที่ปรากฏการณ์ลานีญ่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ด้วยโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ภาวะอากาศที่เป็นกลางที่ 43-67% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เรามองว่า ปรากฏการณ์ลานีญ่าที่แรงขึ้นจะครอบงำในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากความแรงจะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3/65 ก่อนที่อ่อนตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ผลกระทบอย่างไม่มีนัยสำคัญกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองของสหรัฐฯ

ถ้าอ้างอิงการเฝ้าระวังภัยแล้งในพื้นที่แถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ภัยแล้งระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบมิดเวสต์ โดยพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งปานกลางเพิ่มขึ้นจาก 1.1% (ของพื้นที่ทั้งหมดของแถบมิดเวสต์) ในช่วงสามเดือนที่แล้วไปเป็น 10.3% เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 0.3% ไปเป็น 3.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ความแห้งแล้งในภาวะที่รุนแรงมาก จนถึงมากที่สุดได้เริ่มก่อตัวขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐไอโอว่า และพื้นที่ในแถบเกรตเพลนส์ (ซึ่งรวมรัฐเนบราสก้า และรัฐแคนซัส) แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงของการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. สภาพอากาศที่ร้อนจัดของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่อพื้นที่ปลูก แต่ในทางตรงกันข้าม จะช่วยหนุนอัตราการเจริญเติบโตในช่วงปลายฤดูของพืชที่เพาะปลูกในช่วงฤดูร้อน และ ณ วันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐฯ คืบหน้าไปแล้ว 3% ซึ่งคิดเป็นล่าช้ากว่าปีก่อน และค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่เพียงแค่ 2% โดยภาพรวมการเพาะปลูกถั่วเหลืองสหรัฐฯ ถือว่าคืบหน้าไปด้วยดี

ความกังวลที่เพิ่มขึ้นสำหรับภัยแล้งในอาร์เจนติน่าในช่วงไตรมาส 4/65 จนถึงไตรมาส 1/66

สําหรับในประเทศอาร์เจนติน่า สภาพอากาศที่แห้งกว่าปกติได้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกพืชเกตรกรรมโดยรวมทั้งหมด และมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติคิดเป็น 2-4% ในพื้นที่เพาะปลูกสําคัญทางภาคกลางของประเทศอาร์เจนติน่าในเดือนก.ย. สำหรับในประเทศบราซิล สภาพอากาศที่แห้งและร้อนมากได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีฝนตกเล็กน้อยกระจายไปทางเหนือถึงรัฐมาดู กรอสซู และมีปริมาณน้ำฝนในระดับปานกลางเกิดขึ้นทางภาคใต้มุ่งไปทางด้านตะวันออก ปรากฏการณ์ลานีญ่าสำหรับ 2 ครั้งที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่มีต่อผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศอาร์เจนติน่าในช่วงปี 2563-65 ดังนั้น เราจึงมองว่ามีแนวโน้มที่จะกระทบผลผลิตถั่วเหลือง และผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกของประเทศอาร์เจนติน่าสําหรับรอบการปลูกในปี 2565/66

ฝนที่ตกหนักขึ้นในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากโอกาสของการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เราจึงคาดว่าจะเห็นผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและอินเดีย แต่จะเห็นผลผลิตที่จะลดลงในประเทศบราซิล จากการคาดการณ์ภัยแล้งในรัฐเซาเปาโล และพื้นที่ปลูกอ้อยที่ใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่ลดลงในปี 2565/66 ของประเทศบราซิลมีแนวโน้มซึ่งจะถูกกลบด้วยผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในปี 2565/66 ของประเทศไทยและอินเดียบางส่วน ซึ่งเรามองว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำตาลโลกจะยังคงทรงตัวในระดับสูงในช่วงตลอดครึ่งหลังของปี 2565

- Advertisement -