บล.พาย:

GFPT: บมจ.จีเอฟพีที “3Q22 ลุ้นกำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่”

เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” และประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 22.5 บาท (16XPER’23E) จากเดิม 20.5 บาท โดยปรับไปใช้ราคาในปี 23 ปัจจัยบวกคือแนวโน้มผลประกอบการช่วง 3Q22 ที่คาดว่าจะทำระดับสูงสุดใหม่ที่ 574 ลบ. หลังได้รับผลดีจากราคาไก่ในประเทศที่ยืนสูง และการส่งออกที่กลับมาดี โดยเฉพาะจากจีนและสหภาพยุโรป ขณะที่ในปี 23 ปัจจัยบวกคือราคาไก่ที่คาดว่ายืนสูงได้ถึงอย่างน้อย 2H22 และการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาดี

คาด 3Q22 กําไรสุทธิ 574 ลบ.

  • เราคาดว่ากำไรงวด 3Q22 จะสูงถึง 574 ลบ. พลิกจากที่ขาดทุน 87 ลบ. ใน 3Q21 และ +26%QoQ ไตรมาสนี้ยังคงได้รับผลดีจากราคาเนื้อไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 54%YoY, 14%QoQ รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และความต้องการจากจีนที่เริ่มดีขึ้น หลังมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด โดยการส่งออกกลับมาอยู่ในระดับ 8,500 ตันเทียบกับ 7,500 ตันใน 2Q22 และ 5,300 ตันใน 3Q21
  • รายได้คาดไว้ที่ 4,766 ลบ. (+46%YoY, +13%QoQ) กำไรขั้นต้น 17% ดีขึ้นจาก 5% ใน 3Q21 และ 16% ใน 2Q22 นอกเหนือจากราคาไก่ที่อยู่สูง และแง่ต้นทุนเริ่มทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับค่าใช้จ่าย ในการขายและบริหารคาดไว้ที่ 400 ลบ. (+13%YoY, +7%QoQ) แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้จะอยู่ที่ 8.4% ลดลงจาก 10.8% ใน 3Q21 และ 8.9% ใน 2Q22 หลังค่าขนส่งเริ่มเห็นการปรับตัวลดลง
  • ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคาดว่าจะอยู่ที่ 164 ลบ. (+ 723%YoY, +5%QoQ) โดยการเติบโตหลักมาจาก GEN หลังราคาเนื้อไก่ในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ส่วนแบ่งจาก Mckeys คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจาก 2Q22 ที่มีส่วนแบ่ง 75 ลบ. เนื่องจากโรงงานแห่งที่ 3 อยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเข้ามาเพิ่ม
  • แนวโน้ม 4Q22 คาดว่าจะเห็นการลดลงเล็กน้อยจาก 3Q22 เนื่องจากผลตามฤดูกาล แต่หากเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างมากเพราะราคาเนื้อไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

มีแผนปรับกำไรขึ้นหลังประกาศผลประกอบการ

  • หากกำไรในช่วง 3Q22 ออกมาตามที่เราคาดไว้ จะทำให้กำไรในช่วง 9M22 สูงถึง 1,483 ลบ. คิดเป็นสัดส่วนถึง 89% ของกำไรทั้งปีที่เราคาดไว้ที่ 1,670 ลบ. ทำให้เรามีแนวโน้มปรับประมาณการเพิ่มหลังการประกาศผลประกอบการช่วงกลางเดือน พ.ย.

ปี 23 คาดราคาไก่ยืนสูงถึง 2H23 แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยบวกคือการส่งออกที่ค่อยๆ ดีขึ้น

  • สำหรับแนวโน้มปี 23 ในส่วนของราคาไก่ในประเทศคาดว่าจะยังยืนสูงได้จนถึงช่วง 2H23 เนื่องจากจะครบกรอบเวลา 2 ปีที่โรค ASF ระบาด และคาดว่าจะมีผลผลิตสุกรกลับเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะดึงให้ราคาสุกรอ่อนตัวลงและทำให้ราคาเนื้อไก่มีโอกาสปรับตัวลดลงตามได้
  • สำหรับ GFPT ปัจจัยบวกที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวลงได้ คือ การส่งออกที่ปัจจุบันไลน์การผลิตไก่แปรรูปปรุงสุกมีการใช้กำลังการผลิตเพียง 80% มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้หลังจากลูกค้าหลักอย่างจีนและสหภาพยุโรปมีแนวโน้มสั่งเพิ่ม รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำให้คนงานในปี 22 มีปัญหา คาดว่าจะสามารถคลี่คลายได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโอกาสเพิ่มการส่งออกได้อีกจากตลาด ประเทศซาอุดิอาระเบียที่ล่าสุดอนุมัติให้ส่งชิ้นส่วนไก่ได้ทั้งตัวแล้ว

Revenue breakdown

โครงสร้างรายได้ของ GFPT มาจากสินค้าหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1 ธุรกิจอาหารที่ประกอบไปด้วยการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปและไก่สด การส่งออกทางอ้อมเนื้อไก่ตัดแต่ง การขายชิ้นส่วนไก่สดและผลพลอยได้จากไก่ในประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ 2 ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มาจากการขายไก่เนื้อให้กับ GFN (บริษัทร่วมทุน) การขายลูกไก่ และการขายไข่ไก่ในประเทศ และ 3 ธุรกิจอาหารสัตว์แบ่งเป็น อาหารสัตว์บก สัตว์น้ำ และอาหารกุ้ง โดยตลาดส่งออกสำคัญอยู่ที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (รวมอังกฤษ)

- Advertisement -