บล.พาย: 

BANKING: “โตท่ามกลางปัจจัยกดดันภายนอก” (OVERWEIGHT)

TOP PICK: BBL, SCB, KKP

ผลประกอบการไตรมาส 3/22 ออกมาแข็งแกร่ง (+28% YoY, +2% QoQ) ด้วยคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น คงประมาณการการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2022 ที่ 19% YoY ส่วนในปี 2023-24 คาดว่าโตต่อเนื่องแต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงเป็น 13% YoY ประเมินอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่โตขึ้นเป็น 9%-9.5% ในปี 2023-24 จากคาดการณ์ที่ 8.3% สำหรับปี 2022 เทียบกับเมื่อปี 2019 หรือก่อนโควิด-19 ที่เข้าใกล้ 10% มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 0.6x PBV’23E หรือ -1SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี เทียบกับ 0.8x PBV ในปี 2019 คงมุมมองเชิง “บวก” ต่อกลุ่มโดยรวม ขณะที่เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้นเด่น แล้วเลือก KKP สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก-กลาง

ผลประกอบการไตรมาส 3/22 แข็งแกร่งตามคาด

ธนาคาร 7 แห่งที่เราวิเคราะห์อยู่มีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 4.45 หมื่นล้านบาท โต 28% YoY (+2% QoQ) ในไตรมาส 3/22 การเติบโต YoY ได้แรง หนุนจาก 1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นจากสินเชื่อและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่โตขึ้น 2) รายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น และ 3) การตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง ทั้งนี้ สาเหตุที่ในเชิง QoQ โตเล็กน้อยเพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิโตขึ้นนั้นถูกหักลบ โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและภาษีจ่ายที่สูงขึ้น กำไรสุทธิโดยรวมสำหรับ 9 เดือนโตขึ้น 21% YoY เป็น 1.324 แสนล้านบาท หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่โตขึ้นและการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง

คาดกําไรโต YoY แต่ลดลง QoQ ในไตรมาส 4/22

  • ปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มธนาคารยังยืดหยุ่นดี ด้วยสำรองหนี้ฯ ที่เพียงพอ และอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (tier 1 ratio) ที่แข็งแกร่ง แม้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิโดยรวมในไตรมาส 4/22 จะโตขึ้นราว 10%-15% YoY จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นและการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง กลุ่มธนาคารมีแนวโน้มใช้จ่ายด้านการดำเนินงานมากขึ้นในไตรมาส 4 (การตลาดและค่าใช้จ่ายพนักงาน) จึงคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาสนี้จะต่ำสุดในรอบปี 2022
  • คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2022 โต 19% YoY ส่วนในปี 2023-24 แม้คาดถึงปัจจัยไม่แน่นอนภายนอกอยู่บ้าง แต่ก็คาดว่ากำไรสุทธิจะโต 13% หนุนจากสินเชื่อและ NIM ที่โตขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลง

เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้นเด่น

  • คงมุมมองเชิง “บวก” สำหรับกลุ่มธนาคารเพราะ 1) กำไรสุทธิมีแนวโน้มเติบโตมั่นคง 2) งบดุลยืดหยุ่นดี (อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ สูง และฐานเงินทุนแข็งแกร่ง) และเพียงพอต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และ 3) มูลค่าหุ้นไม่แพง ปัจจุบันกลุ่มโดยรวมมีมูลค่าการซื้อขายที่ 0.6x PBV’23E หรือ -1.0SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี (2017-2021)
  • เราชอบกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากกว่า เพราะมีพอร์ตสินเชื่อหลากหลายและมีโอกาสได้ประโยชน์จากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยที่จะไปขยาย NIM ให้กว้างขึ้น เลือก BBL (“ซื้อ” เป้าหมาย 164.00 บาท) SCB (“ซื้อ” เป้าหมาย 144.00 บาท) เป็นหุ้นเด่น เพราะแนวโน้มกำไรสุทธิโตมั่นคง งบดุลแข็งแกร่ง และมูลค่าหุ้นน่าดึงดูด ขณะที่เลือก KKP (“ซื้อ” เป้าหมาย 86.00 บาท) เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก-กลาง เพราะมีการบริหารเงินทุนที่มีประสิทธิภาพและมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูด

BBL, KKP, KTB, SCB, และ TTB มีกำไรสุทธิโต YoY และ QoQ

  • แม้กำไรสุทธิโดยรวมของ 7 ธนาคารที่เราวิเคราะห์อยู่ออกมาสอดคล้องกับคาดการณ์ แต่ประทับใจกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และงบดุลที่ปรับดีขึ้นในไตรมาส 3/22 ในด้านกำไรก่อนตั้งสำรองหนี้ฯ (PPOP) ดีกว่าคาด 6% จาก NII และ NIM ที่โตดีกว่าคาด
  • KTB และ TTB มีผลประกอบการดีกว่าคาด หนุนจาก NII และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าคาด แต่ KBANK มีกำไรต่ำคาดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่ลดลง ขณะที่ BBL, KKP, KTB, SCB, และ TTB มีกำไรสุทธิโตขึ้น YoY และ QoQ หนุนจาก NIM ที่โตขึ้นและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยืดหยุ่นดี
  • NIM โดยรวมของกลุ่มโตขึ้นทั้ง YoY และ QoQ เป็น 3% ในไตรมาส 3/22 จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น โดยทั้ง 7 ธนาคารต่างมี NIM ที่สูงขึ้น QoQ ธนาคารที่มี NIM โตอย่างมากทั้ง YoY และ QoQ คือ BBL (+27bp QoQ) และ SCB (+21% QoQ) หนุนจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้นและการจัดการต้นทุนดอกเบี้ยที่มีประสิทธิภาพ
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CIR) ของกลุ่มทรงตัว YoY และ QoQ อยู่ที่ 44.3% เพราะค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูงขึ้นได้รับการชดเชยจากรายได้การดำเนินงาน ขณะที่ KKP มี CIR ลดลงอย่างมากทั้ง YoY และ QoQ จากรายได้การดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดย BBL มี CIR ลดลงมากสุดในเชิง YoY เพราะ NII ที่โตแข็งแกร่ง

Steady loan growth and improved asset quality

สินเชื่อโตอย่างมั่นคง

  • สินเชื่อโดยรวมโตต่อเนื่อง 1% QoQ ในไตรมาส 3/22 หรือโต 2.8% YTD ในกรอบ 9 เดือน โดย KKP มีสินเชื่อโตมากสุดที่ 7% QoQ จากทุกกลุ่มลูกค้า (สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ SME และรายย่อย) ส่วนธนาคารอื่นที่มีสินเชื่อโตขึ้นคือ BBL (+5.4% QoQ) และ TISCO (+4.8% QoQ) แต่ KBANK, KTB, และ SCB มีการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง
  • คาดถึงอุปสงค์ต่อสินเชื่อที่สูงขึ้นในไตรมาส 4/22 จากปัจจัยตามฤดูกาลที่ลูกค้ามักใช้จ่ายสูง และมีการส่งออกที่สูงขึ้น คาดการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งปี 2022 ที่ราว 4%-4.5% YoY ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 4.5%-5.0% เล็กน้อย หลังจากที่เราทำการปรับลดเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อสำหรับ KBANK ลง

คุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น

  • คุณภาพสินเชื่อยังยืดหยุ่นดี อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ลดลง QoQ เหลือ 3.7% (ไตรมาส 2/22: 4%) ทาง KBANK มี NPL ลดลงมากสุด (-20% QoQ) เพราะทำการขายและตัดบัญชี NPL เพื่อแบ่งเบาภาระงบดุล ในด้าน SCB ก็มี NPL ลดลง 10% สำหรับอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ โดยรวมของกลุ่มปรับเพิ่มเป็น 175% (ไตรมาส 2/22: 166%) โดย SCB มีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มมากสุดเป็น 164% (+10% QoQ) และ BBL ที่ 240% (+7.6% QoQ)
  • แม้อยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่ากลุ่มธนาคารไทยมีสำรองหนี้ฯ พอต่อความไม่แน่นอน จึงคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญจะลดลงต่อเนื่องในปี 2023 ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนการเติบโตด้านกำไรของกลุ่มธนาคารไทยต่อไปได้
- Advertisement -