บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY: สหรัฐหลุดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว
หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อเนื่องกันสองไตรมาส ในที่สุดก็กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่อัตรา 2.6% qoq sa. ใน 3Q22 อย่างไรก็ตาม GDP ยังโตต่ำกว่าประมาณการของ GDPNow (3.1%) แต่สูงกว่า consensus ที่ 2.4% โดยปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญคือการส่งออก การบริโภค และการลงทุนนอกกลุ่มที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาโตเป็นบวกไม่น่าจะกระทบกับแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อยังไม่มีอะไรผิดไปจากความคาดหมาย เราคาดว่า Fed จะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีก 75bp ในการประชุม FOMC นัดหน้า และจะขึ้นอีก 50bp ในการประชุมช่วงสิ้นปี
อัตราการเติบโตโดยรวมแข็งแกร่งขึ้น
เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาโตเป็นบวกได้ใน 3Q22 สอดคล้องกับประมาณการ GDPNow ของ Fed สาขา Atlanta ทั้งนี้ ในขณะที่การเติบโตถูกขับเคลื่อนโดยการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคบริการ (+2.8%) ในขณะที่การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้ายังหดตัว (-1.2%) ซึ่งเป็นการยืนยันทฤษฎีว่าผู้คนมีแนวโน้มจะจับจ่ายเพื่อซื้อบริการมากขึ้นหลังสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งจะช่วยให้แรงกดดันทางด้านราคาสินค้าลดลง นอกจากนี้ กำลังซื้อยังแข็งแรงขึ้นด้วย โดยรายได้ disposable income เร่งตัวขึ้น 6% จากที่เพิ่มขึ้น 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน การจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งโมเมนตัมส่วนใหญ่มาจากส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ รายได้จากการส่งออกก็ยังแข็งแกร่ง (+14.4% yoy) แม้จะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือดัชนีที่เกี่ยวข้องกับราคา
ถึงแม้ว่าโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจะมีความสำคัญ แต่ทุกวันนี้นักลงทุนมีแนวโน้มจะติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อด้วย ยังดีที่ข้อมูลที่ออกมายังไม่มีอะไรผิดจากความคาดหมายในส่วนที่เกี่ยวกับแรงกดดันทางด้านราคา อันที่จริง GDP deflator ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 4.1% จาก 9.1% ใน 2Q22 ซึ่งยังต่ำกว่า consensus ที่ 5.3% ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคา PCE ก็ชะลอตัวลงเหลือ 4.2% จาก 7.3%
เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น และราคาที่ลดลงนับเป็นสัญญาณที่ดี
โดยสรุปแล้ว รายงาน GDP ที่ออกมาล่าสุดน่าจะเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยง เพราะเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ในขณะที่แรงกดดันทางด้านราคาลดลง ถึงแม้ว่าตัวเลขที่ออกมาจะไม่ได้ทำให้แนวทางของ Fed เปลี่ยนไปจากเดิมที่คาดว่าจะดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับประมาณ 5% แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนทราบกันดีอยู่แล้ว เราคิดว่าตัวเลขที่ออกมาจะทำให้ทั้งพันธบัตรสหรัฐ และหุ้นวิ่งต่อได้ ซึ่งในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (US10Y) ลดลงมาอยู่ที่ 3.98% และดัชนี DJIA วิ่งขึ้นไปอีก 400 จุด ในขณะที่ค่าเงิน USD ยังค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ประมาณ 110