บล.กรุงศรีฯ:

INVESTMENT STRATEGY: เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอีก แต่ตลาดงานยังแข็งแกร่งเกินจะสบายใจได้

เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากยิ่งขึ้น โดยดัชนี ISM ลดลงมาอยู่ที่ 50.2 ในเดือนต.ค. จาก 52.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ ทั้งนี้ กิจกรรมการผลิตโดยรวมยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ข้อมูลทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับสายโซ่อุปทานดีขึ้นทั้งหมด ซึ่งชี้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่น่าจะส่งผลให้ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแรงในการประชุมวันพุธนี้

ปัญหาอยู่ที่ไส้ใน …  

ดัชนี ISM ที่ชะลอตัวลงมีนัยยะที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจทำให้บางคนอาจตีความไปว่าเศรษฐกิจในภาพกว้างกำลังชะลอตัวลง และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำให้ Fed ลดท่าทีการใช้นโยบายการเงินตึงตัวลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาที่ไส้ในจะพบว่าการผลิตของสหรัฐกำลังขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น (52.3 ในเดือน ต.ค. จาก 50.6 ในเดือน ก.ย.) ในขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 49.2 จาก 47.1 แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกหดตัวหนักขึ้น ซึ่งชี้ว่าอุปสงค์ในตลาดโลกกำลังชะลอตัวลง ในอีกด้านหนึ่ง การจ้างงานกำลังเร่งตัวขึ้น โดยดัชนีขยับขึ้นมาเป็น  50 จาก 48.7 สอดคล้องกับรายงานขอ JOLTS ซึ่งบ่งชี้ว่ามีตำแหน่งงานเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 10.72 ล้านตำแหน่งใน สูงขึ้นจาก 10.28 ล้านตำแหน่งในเดือนที่แล้วเล็กน้อย ทั้งนี้ สัดส่วนของตำแหน่งงานที่เปิดใหม่กับจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.86 จาก 1.70 ซึ่งข้อมูลใหม่นี้ยืนยันว่า Fed น่าจะยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 75bp  ในสัปดาห์นี้ และน่าจะขึ้นอีก 50bp ในการประชุมปลายปี  แต่เรายังไม่ทิ้งความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ย 75bp ในเดือนธ.ค.

แต่มีสัญญาณว่าฝั่งอุปทานยังดี และจะดีต่อไป

เราคิดว่าสายโซ่อุปทานกำลังดีขึ้น เพราะการจัดส่งสินค้าหดตัวหนักขึ้นโดยอยู่ที่ 46.8 (จาก 52.4) สอดคล้องกับดัชนี price paid index ที่ลดลงอย่างมากเหลือ 46.6 จาก 51.7 ดังนั้น เราจึงคิดว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่จะประกาศในวันที่ 10 พ.ย. จะเป็นตัวเลขที่ตลาดจับตาดูมากที่สุด ซึ่งในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้อยู่ Nowcast ของ Fed สาขา Cleveland คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 8%  จาก 8.2% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะทรงตัวในระดับสูงที่ 6.6% เท่ากับเดือนก.ย.

- Advertisement -