บล.ฟิลลิป:

บัตรกรุงไทย – KTC พร้อมเติบโตแล้ว

Key Point

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตต่อเนื่อง การทำโปรโมชั่นทางการตลาดของ KTC รวมไปถึงการเข้า High season ของการจับจ่ายจะทำให้สินเชื่อของ KTC เติบโตต่อ ประกอบกับการใช้ความร่วมมือกับ KTB จะช่วยให้ในปี 66 จะ ยังเห็นการเติบโตที่โดดเด่นได้ต่อ ทางฝ่ายได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไร และปรับราคาพื้นฐานขึ้นมาเป็น 68 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”

ผู้บริหารมั่นใจว่าสินเชื่อปี 65 จะทำได้ตามเป้า

ณ 9M65 KTC มีสินเชื่ออยู่ 92.6 พันลบ. หรือเป็นการเติบโต 4.7% และทาง KTC มั่นใจว่าสินเชื่อ ณ สิ้นปีจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะมีสินเชื่อเกิน 1 แสนลบ. หรือเป็นการเติบโตประมาณ 8% โดยสินเชื่อ 9M65 เติบโตมาจากทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงเกินกว่าช่วงก่อน COVID-19 ไปแล้ว ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อการเติบโตของสินเชื่อ และสินเชื่อส่วนบุคคลก็โตไปแล้วถึง 7.9% จากเป้าที่ตั้งไว้ที่เติบโต 7% จะมีเพียงสินเชื่อพี่เบิ้ม หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อเช่าซื้อจาก KTBL เท่านั้นที่ทำไม่ได้ตามเป้า โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะปล่อยสินเชื่อ 11,500 ลบ. แต่ปล่อยได้ เพียง 804 ลบ. เนื่องจากเป็นการวางระบบการปล่อยสินเชื่อ และมีการเน้นจัดการ NPL ของ KTBL ให้ลดลงก่อน

พร้อมเติบโตต่อใน 4Q65 และปี 66

ไตรมาส 4 ปกติจะเป็น High season ของการจับจ่าย ทำให้คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตร รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อของ KTC จะเติบโตต่อ และในปี 66 KTC ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 15% โดยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลจะโตต่อ และสินเชื่อพี่เบิ้มที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูง โดยตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อได้ 3 พันลบ. จากปี 65 ที่คาดว่าทั้งปีจะปล่อยได้ 1 พันลบ. โดยในกลาง 4Q65 จะเริ่มใช้สาขาของ KTB รวมไปถึงแอปของ KTB เป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าเพิ่มเติมจากสาขาของ KTC และแอปของ KTC เอง

ปรับประมาณการกำไร และราคาพื้นฐานขึ้น

ปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อในปี 65 ขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 7% ทำให้ประมาณการกำไรปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 7 พันลบ. จากเดิมคาดไว้ที่ 6.7 พันลบ. เพิ่มขึ้น 19.4% y-y ส่วนปี 66 คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10% แต่ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 5% y-y จากการปรับเพิ่มประมาณการกำไรส่งผลให้ราคาพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นด้วยเป็น 68 บาท จากเดิม 67 บาท

ความเสี่ยง

  1. ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระหนี้
  2. ความเสี่ยงอันเกิดจากการควบคุมของรัฐ
  3. ความเสี่ยงอันเกิดจากสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ
- Advertisement -