บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง: 

Thailand Automotive: แนวโน้มปี 2566 จะเติบโตต่อแต่ไม่สูง

“คงน้ำหนักกลุ่มยานยนต์เท่าตลาด” – แนะนำ ซื้อ AH, SAT, STANLY

ปี 2566 เราคาดยอดขายและกำไร จะเติบโตต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่การเติบโตคาดจะไม่สูงหนัก ราคาหุ้น Valuation ค่อนข้างถูก มีค่า P/E ปี 2566 ต่ำ คือ AH 7.8 เท่า SAT 9.3 เท่า และ STANLY 9.0 เท่า (ปี FY24E) และมีปันผลที่ดี AH 4.5% SAT 7.0% และ STANLY 4.8% เราแนะนำ ซื้อ ใน AH (เป้าหมาย 38 บาท), SAT (เป้าหมาย 24 บาท) และ STANLY (เป้าหมาย 215 บาท) เราเลือก AH เป็น Top Pick เนื่องจากหุ้นมีการเติบโตเด่นสุด และ มี P/E ต่ำสุด เราคงน้ำหนักกลุ่มยานยนต์เท่าตลาด เนื่องจากราคาหุ้นมีอัพไซด์ไม่สูง และการเติบโตไม่เด่นนัก

ยอดผลิตรถยนต์ปี 2566 คาด 1.9 ล้านคัน เติบโต 5.5%

ยอดผลิตรถยนต์ปี 2566 เราคาดจะเติบโตต่ออีก 5.5% สู่ระดับ 1.9 ล้านคัน หลังปี 2565 เติบโต 6.7% สู่ระดับ 1.8 ล้านคัน โดยยอดผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่เราประเมิน GDP จะเติบโต 3.2% (เทียบกับปี 2565 จะโต 3.2%) และการบริโภคภาคเอกชน คาดจะเติบโต 4% ส่วนยอด ผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก คาดจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกปี 2566 ซึ่ง IMF คาดจะ เติบโต 2.7% (เทียบปี 2565 จะโต 3.2%) โดยเฉพาะตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยคือ Emerging and Developing Asia จะโต 4.9% (เทียบปี 2565 จะโต 4.4%)

ปี 2566 ผลประกอบการกลุ่มยานยนต์จะเติบโตทิศทางเดียวกัน

ปี 2566 แนวโน้มยอดขายหุ้นในกลุ่มยานยนต์ SAT และ STANLY จะเติบโตในทิศทาง เดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ ประมาณ 5% ในขณะที่ AH คาดจะเติบโตเด่นกว่า 10% เนื่องจากได้รับคําสั่งซื้อใหม่ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตได้ดีกว่าตลาด สำหรับกำไรปกติ คาด AH และ STANLY จะเติบโต 7% ส่วน SAT จะเติบโต 5% ซึ่ง AH จะมีกำไรที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง

รัฐบาลตั้งเป้าหมายรถ ZEV จะมีสัดส่วน 30% ในปี 2573

รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV – Zero Emission Vehicle) จำนวน 725,000 คัน หรือ 30% ของการผลิตยานยนต์ไทย ในปี พ.ศ. 2573 โดยมีบันไดก้าวแรกภายใน 4 ปี หรือ 2568 ต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 225,000 คัน หรือ 10% ของยอดผลิต ดังนั้น มาตรการของรัฐบาลจึงให้เงินอุดหนุน ลดภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิต จะทำให้รถยนต์ BEV ถูกลงประมาณ 2.26-2.47 แสนบาท เงื่อนไขการรับสิทธิ์นี้ ค่ายรถยนต์ผู้ผลิตต้องผลิตรถชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า ซึ่งค่ายรถยนต์ MG, GWM, BYD, PTT & Foxconn มีแผนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2567 จะช่วยเพิ่มยอดขายหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์

ให้น้ำหนักลงทุนเท่าตลาด เลือก AH เป็น Top Pick

เราให้น้ำหนักกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เท่าตลาด เราคาดยอดผลิตรถยนต์ในปี 2566 จะเติบโตไม่สูงนัก 5% สู่ระดับ 1.9 ล้านคัน ได้แรงหนุนจากการเติบโตของการบริโภคในประเทศ และตลาดหลักส่งออกรถยนต์ของไทย คือ ทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้หุ้นที่เรา Cover คือ AH, SAT, STANLY มียอดขายที่เติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์ โดย AH จะเติบโตเด่นสุด 10% เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มเติม 1,000-1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3-4% ของประมาณการยอดขายปี 2566 และยังมีการเปิดโชว์รูมขายรถยนต์เพิ่ม ส่วน SAT และ STANLY เราประเมินยอดขายจะเติบโต 5% เท่ากับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโต

หุ้นในกลุ่มยานยนต์มีมูลค่าที่ถูกซื้อขาย P/E ในปี 2566 ต่ำ 8-9 เท่า P/BV 0.7-1.1 เท่า และมีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ดี 4-7% เราแนะนำ ซื้อ ใน AH (เป้าหมาย 38 บาท) SAT (เป้าหมาย 24 บาท) และ STANLY (เป้าหมาย 215 บาท) เลือก AH เป็น Top Pick เนื่องจากมีผลประกอบการที่เติบโตเด่นสุดในกลุ่ม จากที่ได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาต่อเนื่องในปี 2566

ปี 2566 คาดยอดผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคัน เติบโต 5.5%

ปี 2566 เราคาดยอดผลิตรถยนต์ 1,9000,000 เติบโต 5.5% แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน เติบโต 5.8% และผลิตเพื่อส่งออก 1,000,000 คัน เติบโต 5.2% เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่ประเมินจะมียอดผลิตรถยนต์ 1,800,000 คัน เติบโต 6.7%

ยอดผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ คาดจะเติบโตตามตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่เราประเมิน GDP จะเติบโต 3.2% (เทียบกับปี 2565 จะ โต 3.2%) และการบริโภคภาคเอกชน คาดจะเติบโต 4% ส่วนยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก คาดจะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกปี 2566 ซึ่ง IMF คาดจะเติบโต 2.7% (เทียบปี 2565 จะ โต 3.2%) โดยเฉพาะตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทยคือ Emerging and Developing Asia (สัดส่วน 75%) จะโต 4.9% (เทียบปี 2565 จะโต 4.4%)

แนวโน้มปี 2567 เราคาดยอดผลิตรถยนต์คาดจะกลับมาระดับเดียวกับก่อนการระบาดของ Covid-19 คือ ประมาณ 2 ล้านคัน

AH : แนวโน้มปี 2566 ผู้บริหารตั้งเป้าหมายยอดขายจะเติบโตต่ออีก 10-15% อัตรากำไรขั้นต้น 10-12% และ มีอัตรากำไรสูงกว่าปี 2565 โดยยอดขายจะได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ ที่จะรับรู้ในปี 2566 คือ 1.) ชิ้นส่วนให้ Vinfast คือ Thrust Panel 500-600 ล้านบาท และ Battery Shield 100 ล้านบาท 2.) Axle Shaft สำหรับรถยนต์ฟอร์ด จะเพิ่มจาก 700 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 1,100-1,200 ล้านบาท ในปี 2566 นอกจากนี้มีการเปิดโชว์รูมขายรถยนต์เพิ่มคือ 3Q65 Mitsubishi, Ford ในไทย และ 4Q65 Proton ที่มาเลเซีย เราคาดยอดขาย 29,618 ล้านบาท เติบโต 10% มีกำไรปกติ 1,539 ล้านบาท เติบโต 7%

ราคาหุ้น AH มีมูลค่าที่ถูก ซื้อขาย P/E ปี 2566 ที่ต่ำ 7.8 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน 4.5% ประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 เท่ากับ 38 บาท บนฐาน P/E 8.8 เท่า ให้ส่วนลดจากค่าเฉลี่ย Forward P/E 10 ปี ซึ่งเท่ากับ 9.8 เท่า จากกำไรในอดีตมีความผันผวน แนะนำ ซื้อ

SAT : แนวโน้มปี 2566 เบื้องต้นผู้บริหารประเมินยอดผลิตรถยนต์จะไม่แตกต่างจากปีนี้มากนักประมาณ 1.8 ล้านคัน โดยปี 2566 SAT จะได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาคือ Case set ของเกียร์ 100 ล้านบาท/ปี จะรับรู้ใน 1Q66 และเพลาแกนหน้า (Output Shaft) มูลค่า 100 ลบ/ปี (เข้า 2066) จะช่วยหนุนรายได้ปี 2566 เติบโต เราประเมินยอดขาย 9,344 ล้านบาท เติบโต 5%YoY และมีกำไร 988 ล้านบาท เติบโต 5.5% นอกจากนี้บริษัทใหม่ STRON ซึ่ง SAT ถือหุ้น 60% ปี 2566 มีแผนจะเปิดตัวรถบัส EV และรถสามล้อ EV ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะมีสัดส่วน ยอดขายประมาณ 10% จะช่วยเพิ่มอัพไซด์ต่อประมาณการ

ราคาหุ้นมีมูลค่าที่ถูก ซื้อขาย P/E ปี 2566 ต่ำเพียง 9.3 เท่า และ P/BV 1.1 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีเงินสดในมือสูง 3 พันล้านบาท (33%ของมูลค่าตลาด) มีอัตราปันผลตอบแทน 7.0% เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 เท่ากับ 24 บาท ใกล้ค่าเฉลี่ย 10 ปี Forward P/E เท่ากับ 10.3 เท่า แนะนำ ซื้อ

STANLY : แนวโน้มปี 2567 (เม.ย. 2566 – มี.ค. 2567) เราประเมินยอดขายจะเติบโตตามยอดผลิตรถยนต์ปี 2566 คือ 1.9 ล้านคัน เติบโต 5% คาดยอดขาย 14,433 ล้านบาท เติบโต 5%YoY และมีกำไร 1,570 ล้านบาท เติบโต 7.4%

STANLY มีฐานะการเงินแข็งแกร่งไม่มีหนี้ ในขณะที่มีเงินสดสูง 6.9 พันล้านบาท (58% มูลค่าตลาด) หุ้นมีมูลค่าถูก ซื้อขาย P/E ปี 2567 ต่ำเพียง 9.0 เท่า (-1SD) P/BV 0.6เท่า ( 1SD) และมีเงินปันผลตอบแทนดี 4.7% คงแนะนำ ซื้อ เราเปลี่ยนไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2567 (สิ้นสุด มี.ค. 2567) ได้เท่ากับ 215 บาท บนฐานค่าเฉลี่ย 10 ปี Forward P/E 10.5 เท่า (เพิ่มจากเดิม 200 บาท)

รัฐบาลตั้งเป้าหมายรถ BEV จะมีสัดส่วน 30% ในปี 2573

รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV – Zero Emission Vehicle) จํานวน 725,000 คัน หรือ 30% ของการผลิตยานยนต์ไทย ในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมาย อาทิ แบตเตอรี่ ปีละ 40 กิกะวัตต์อาวร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากพอที่จะจูงใจให้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ สถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับ EV ที่ 12,000 แห่ง ปรับปรุงระบบสายส่งให้เป็น Smart Grid เพื่อให้คล่องตัวและยืดหยุ่นตามความต้องการที่เคลื่อนที่ใช้ของรถอีวี โดยมีบันไดก้าวแรกภายใน 4 ปี หรือ 2568 ต้องผลิตยานยนต์ ไฟฟ้า 225,000 คัน หรือ 10% ของยอดผลิต

ดังนั้น มาตรการของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) คือ

1. รถยนต์นั่ง ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท 1.1 ลดอากรนำเข้าสูงสุด 40% (ในปี 2565-66) 1.2 ลดภาษีสรรพสามิตรถจาก 8% เหลือ 2% ให้เงินอุดหนุน (ในปี 2565-2568) 70,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ต้องต่ำ กว่า 30 kWh หรือ ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน แบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh

2. รถยนต์ นั่ง ราคา 2-7 ล้านบาท 2.1 ลดอากรนำเข้าสูงสุด 20% (ในปี 2565-2566) 2.2 ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เหลือ 2% 3. รถกระบะ ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท 3.1 ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ 0% (ในปี 2565-2568) 3.2 ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ไฟฟ้า 30 kWh เฉพาะผลิตในประเทศไทย (ในปี 2565-2568) สำหรับเงื่อนไขการรับสิทธิ์นี้ ค่ายรถยนต์ผู้ผลิตต้องผลิตรถชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า ในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า หรือ นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน

จากมาตรการข้างต้น ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีการผลิตรถยนต์ BEV ซึ่งปัจจุบันเป็นรถนำเข้า 100% ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะต้องมีโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยอีก 2-3 ปี ข้างหน้า คือ ในปี 2567-2568 บริษัทที่เข้ารับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เช่น ค่ายรถยนต์ MG, GWM, BYD, PTT & Foxconn

ภายใต้มาตรการส่งเสริมรถยนต์ BEV ดังกล่าว ทำให้ราคารถยนต์ถูกลงประมาณ 2.26-2.47 แสนบาท หรือ ประมาณ 20% เราประเมินยอดขายรถยนต์ BEV ในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 10,000 คัน เทียบกับปี 2564 ที่มียอดขายรถยนต์ BEV จำนวน 1,958 คัน หรือเติบโตประมาณ 410% อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประมาณการตลาดรถยนต์ในปีนี้ โดยค่ายรถยนต์โตโยต้า เท่ากับ 880,000 คัน จะมีสัดส่วนเพียง 1.1% ของตลาดรถยนต์รวม สำหรับตัวเลข 10 เดือนแรก รถ BEV มียอดขายรวม 7,550 คัน โต 339%

แนวโน้มปี 2566 เราประเมินยอดขายรถ BEV จะเพิ่มเป็น 25,000-30,000 คัน เติบโต 150- 200% แรงหนุนจากมาตรการส่งเสริมรถ BEV ของรัฐบาลจะทำให้ราคารถยนต์ถูกลงประมาณ 2.26-2.47 แสน ค่ายรถมีการเปิดตัวรถ BEV มากขึ้น และมีการส่งมอบรถยนต์ได้มากขึ้น

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ต่างๆ รวมประมาณ 3 ล้านคัน ส่วนใหญ่จะเป็นค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น คือ โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด มาสด้า มิตซูบิชิ โดยมีค่ายรถยนต์จากประเทศจีนเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยแล้ว คือ GWM กำลังการผลิต 160,000 คัน และ MG 100,000 คัน

ภายใต้นโยบายส่งเสริมรถยนต์ BEV ของรัฐบาล ซึ่งจะต้องผลิตรถยนต์ชดเชย ทำให้ BYD ลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิต 150,000 คัน ในปี 2567 และกลุ่ม PTT + Foxconn ลงทุนรวม 3.7 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าจะผลิต 50,000 คันในปี 2567 และเพิ่มเป็น 150,000 คัน ในปี 2573 เราผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดหลักทรัพย์ จะเริ่มได้รับผลประโยชน์จากค่ายรถยนต์ BEV เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศในปี 2567 แต่ช่วงแรกคาดสัดส่วนรายได้จะยังไม่สูงหนัก

Appendix

10 เดือนแรก 2565 ผลิตรถโต 12% ปี 2565 คาดโต 6.7%

10 เดือนแรก ปี 2565 ยอดผลิตรถยนต์ 1,534,754 คัน โต 12% โดยยอดขายในประเทศ 698,305 คัน โต 17% ได้แรงบวกจากกิจกรรมต่างๆ ที่ฟื้นตัว ทั้งคลายล็อกดาวน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่มีต่อเนื่อง และการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น และส่งออก เท่ากับ 800,672 คัน เติบโตเล็กน้อย 5% ถูกกระทบจากเศรษฐกิจในต่างประเทศ สำหรับรถ BEV มียอดขาย 7,550 คัน เติบโตสูง 339% แต่สัดส่วนยังต่ำ 1% เมื่อเทียบกับยอดขายในประเทศรวม รวมปี 2565 เราคาดยอดผลิตรถยนต์ 1,800,000 คัน เติบโต 6.7%

ไทยยังเป็นฐานการผลิตรถกระบะ สัดส่วนประมาณ 65-70% ของยอดผลิตรถยนต์รวม สำหรับตลาดส่งออกของไทยหลักจะอยู่ในทวีปเอเชีย-ออสเตรเลีย 75% แบ่งเป็น เอเชียตะวันออก 32% ออสเตรเลีย 29% และตะวันออกกลาง 14% ในขณะที่ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ มีสัดส่วนไม่มากนักเพียง 6%/5% ตามลำดับ ซึ่งจากการคาดการณ์ ของ IMF ประเมิน Emerging and Developing Asia จะโต 4.9% (เทียบปี 2565 จะโต 4.4%) ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2566 จะกลับมาเติบโตดีขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์หลักของประเทศไทย 9 เดือนแรกของปี 2565 คือ โตโยต้า มีสัดส่วน 35% เติบโต 33%YoY อีซูซุ มีสัดส่วน 20% เติบโต 35%YoY และมิตซูบิชิ สัดส่วน 16% ลดลง 4%YoY ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศ 9 เดือนแรกของปี 2565 โตโยต้า ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง 33% เติบโต 25%YoY รองลงมาคือ อีซูซุ ครองส่วนแบ่งตลาด 26% เติบโต 24%YoY และฮอนด้า ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับสาม 10% ทรงตัว

สรุปผลประกอบการ 3Q65 และ 9M65

ผลประกอบการหุ้นในกลุ่มยานยนต์ไตรมาส 3Q65 โดดเด่น และเติบโตสูง ทั้ง AH, SAT และ STANLY แรงหนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์ใน 3Q65 ที่มียอดผลิตรถยนต์เติบโตสูงเท่ากับ 493,926 คัน (+27%QoQ, +35%YoY) เนื่องจากไตรมาสก่อนและปีก่อน ประสบปัญหา Covid-19 ระบาด และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น โดย AH มีผลประกอบการที่เด่นสุดในกลุ่มสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่

AH : กำไรสุทธิ 3Q65 โดดเด่นต่อ และทำสถิติสูงสุดใหม่ 601 ล้านบาท (+47%QoQ, +156%YoY) ถ้าหากหักกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงถึง 175 ล้านบาท จะมีกำไรปกติ 426 ล้านบาท (+52%QoQ, +236%YoY) ได้แรงหนุนจาก 1) ยอดขายที่เติบโตสูง เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อใหม่ และลูกค้าหลักอีซูซุเติบโตสูง  2) อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น จากการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น และ 3) ส่วนแบ่งกำไรดีขึ้น

รวม 9 เดือนแรกยอดขาย 20,175 ล้านบาท เติบโตสูง 38%YoY และมีกำไรสุทธิ 1,413 ล้านบาท เติบโตสูง 58%YoY ถ้าไม่รวมกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจะมีกำไรปกติ 1,113 ล้านบาท เติบโต 73% YoY

SAT : 3Q65 มีกำไรที่ฟื้นตัวดีและเด่นขึ้น 259 ล้านบาท (+23%QoQ, +21%YoY) ผลประกอบการได้แรงหนุนจาก 1) ยอดขายที่เติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์ และ 2) อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้น จากราคาขายที่ปรับชื้น และได้รับเงินชดเชยต้นทุนเหล็กที่ปรับชื้นในอดีต

รวม 9 เดือนแรก (9M65) มียอดขาย 6,733 ล้านบาท เติบโต 8%YoY และมีกำไรสุทธิ 728 ล้านบาท ลดลง 6%YoY ถูกกระทบจากต้นทุนเหล็กและสารเคมีที่สูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 18.5% จาก 19.7% ใน 9M2564

STANLY : 2Q66 (ก.ค.-ก.ย.65) มีกำไรที่ฟื้นตัวเด่นและเติบโตสูงเท่ากับ 487 ล้านบาท (+53%QoQ, +82%YoY) แรงหนุนจาก 1) ยอดขายที่เติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์ 2) อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น 3) เงินปันผลรับจากบริษัทลูก 102 ล้านบาท และ 4) ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น

รวม 6 เดือนแรก มียอดขาย 6,834 ล้านบาท เติบโต 10%YoY และมีกำไรสุทธิ 804 ล้านบาท เติบโต 24%YoY

แนวโน้มผลประกอบการ 4Q65 จะชะลอตัว รวมปี 2565 AH จะมีกำไรเด่นสุด ส่วน SAT และ STANLY จะประคองตัว

ตัวเลขผลิตรถยนต์ใน 4Q65 เราประเมินยอดผลิตรถยนต์ประมาณ 480,000 คัน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน 3%QoQ เนื่องจากในเดือน ธันวาคม จะเข้าสู่ช่วงเทศกาล และมีวันหยุดหลายวัน ในขณะที่คาดจะทรงตัวจากปีก่อน ซึ่ง 4Q64 เป็นช่วงที่มีการเร่งผลิตหลังจากที่ 3q64 มีการระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์ Delta ดังนั้น เราคาดผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์คือ AH, SAT และ STANLY จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ในขณะที่คาดจะเติบโตจากปีก่อนเล็กน้อย รวมปี 2565 AH จะมีกำไรที่เด่นสุด ส่วน SAT และ STANLY จะมีกําไรที่ประคองตัว

AH เราประเมินกำไร 4Q65 จะชะลอตัวลงจาก 3Q65 ซึ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ ตามภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นจะทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แต่คาดจะเติบโตจาก 4Q64 ซึ่งมีฐานต่ำ รวมปี 2565 คาดยอดขาย 26,295 ล้านบาท เติบโต 32% และมีกำไรปกติ 1,437 ล้านบาท เติบโต 82% ทำสถิติสูงสุดใหม่ เนื่องจากได้แรงหนุนจากลูกค้าอีซูซุมีการเติบโตสูง ได้รับคำสั่งซื้อจากรถยนต์ฟอร์ด โมเดลใหม่ 700 ล้านบาท รวมถึงการเปิดโชว์รูมขายรถยนต์เพิ่ม

SAT เราประเมินกำไร 4Q65 จะชะลอตัวลงจาก 3Q65 ตามภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล ถูกกระทบจากต้นทุนค่าไฟที่สูงสุด นอกจากนี้ไตรมาส 3Q65 ได้แรงบวกเพิ่มจากเงินชดเชยค่าเหล็กประมาณ 20 ล้านบาท แต่คาดจะเติบโตจาก 4Q64 ซึ่งมีฐานต่ำ รวมปี 2565 เราประเมินยอดขายของ SAT เท่ากับ 8,899 ล้านบาท เติบโต 4% และมีกําไรที่ประคองตัว 936 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.9%

STANLY เราประเมินกำไร 3Q66 (ต.ค.-ธ.ค. 2565) และ 4066 (ม.ค.-มี.ค. 2556) จะชะลอตัวลงจาก 2Q66 (ก.ค.-ก.ย. 2565) เพราะจะไม่มีเงินปันผลเข้ามาช่วยร่วม 100 ล้านบาท เหมือน 2Q66 โดยปกติผลประกอบการ 4Q66 จะดีกว่า 3Q66 เนื่องจากไตรมาสสี่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะมีการเร่งปิดยอดงบปีในเดือน มีนาคม รวมปี 2566 (งบปีสิ้นสุด มี.ค. 2566) เราประเมินยอดขาย 13,745 ล้านบาท เติบโต 1%YoY และมีกำไรปกติเท่ากับ 1,449 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3.4%YoY

- Advertisement -