เศรษฐกิจโลกปี 2022 เผชิญความไม่แน่นอนต่อเนื่อง
ตั้งแต่เกิดการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron variant) ในไตรมาส 1 ทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ปัญหาอุปทานคอขวดจึงคลี่คลายได้ช้า ตามด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์โลกสูงขึ้นมาก ภาคธุรกิจต้องวางแผนโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวสูงทำให้นโยบายการเงินโลกปรับตึงตัวเร็วมาก ซึ่งจะทำให้อุปสงค์โลกชะลอลงอีก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางต่อไปอีก 1-2 ปี กิจกรรมเศรษฐกิจชะลอลงเป็นวงกว้าง ภาคการผลิตปรับแย่ลง ความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับลดลงใกล้ระดับวิกฤตในอดีต ตัวเลขการจ้างงานเริ่มชะลอลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอย (Recession) มากขึ้น บางประเทศหลัก เช่น สหราชอาณาจักรและยุโรปเริ่มเผชิญ Recession ตั้งแต่ปลายปีนี้ สหรัฐฯ คาดว่าจะเข้าสู่ Recession ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกยังมีอยู่ต่อเนื่อง
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่จบลงเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ ส่งผลให้ปัญหาอุปทานคอขวดยืดเยื้อ ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แม้ยังไม่ปะทุรุนแรง แต่จะมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกในระยะข้างหน้า ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตหลักของโลก นอกจากนี้ การแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Decoupling) จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องการรักษาระเบียบโลก (International order) รูปแบบเดิมเอาไว้ ส่งผลให้กลุ่มประเทศทั้งสองขั้วจะพึ่งพาตนเองมากขึ้น ตลาดการเงินโลกในปี 2565 ผันผวนสูงมาก เป็นผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายและเศรษฐกิจโลก ภาวะการเงินโลกตึงตัวตามทิศทางนโยบายการเงินในโลก ราคาสินทรัพย์เสี่ยงลดลงมากตั้งแต่ต้นปีในภาวะเช่นนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2022 ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2022 ฟื้นตัวดีกว่าคาดหลังไทยเปิดประเทศผ่อนคลายนโยบายควบคุม COVID-19 ตั้งแต่เดือน ก.ค. และมีโอกาสถึง 10.9 ล้านคนในปีนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเป็นปกติมากขึ้นทำให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตดีจากอุปสงค์ที่สะสมมา (Pent-up demand) รวมถึงมีปัจจัยสนับหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะรายได้ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมากจากราคาสินค้าเกษตร การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยกิจกรรมการผลิตบางอุตสาหกรรมกลับมาสูงกว่าก่อน COVID-19 แล้ว เช่น ยานยนต์ และเครื่องจักร ด้านการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวดี โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย
เศรษฐกิจไทยในปี 2022 ฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2022 ฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง การส่งออกสินค้าที่เคยเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากในช่วงท้ายปีตามอุปสงค์โลกชะลอตัว แรงกระตุ้นภาครัฐแผ่วลงมากหลัง พรก. เงินกู้โควิดหมดลงในปีนี้ นอกจากนี้ เงินเฟ้อไทยเร่งสูงจากราคาพลังงานและอาหาร ส่งผลกดดันครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นช้ากว่ารายจ่ายและมีหนี้สูง แม้เงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3 จากราคาพลังงานที่ชะลอลง แต่เงินเฟ้อสูงได้ขยายวงกว้างไปยังราคาหมวดอื่น และเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังราคาผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาพรวมของธุรกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ธุรกิจที่ฟื้นตัวเร็วเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของการบริโภคและสอดรับเมกะเทรนด์โลก ธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาโภคภัณฑ์โลกสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และกระแสเมกะเทรนด์ต่างๆ
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นช้ากว่าต่างประเทศ โดยปรับขึ้น 3 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีจาก 0.5% เป็น 1.25% ณ สิ้นปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้ากว่าและเงินเฟ้อสูงจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2% ในปี 2023 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวสูงขึ้น ตามทิศทางนโยบายการเงินและสภาพคล่องระบบการเงินโลกตึงตัวขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากตั้งแต่ต้นปี สาเหตุหลักจากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย กดดันให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงก่อนหน้า SCB EIC ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ และ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2023