บล.กรุงศรีฯ:

INVESTMENT STRATEGY

กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในวันนี้ ถึงแม้ข้อมูลที่ออกมาไม่น่าจะส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของตลาดมากนัก แต่เราคิดว่าอาจจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับแนวโน้มของปัจจัยทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ อย่างเช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม, การลงทุนภาคเอกชน และตลาดแรงงาน โดย Consensus คาดว่าการส่งออกจะหดตัวลง 5.6% ทำให้ขาดดุลการค้า US$0.2 พันล้าน ทั้งนี้ หากอิงจากค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของการส่งออกของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และการส่งออกที่ไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์ การส่งออกของไทยอาจจะหดตัวแรงถึง 9% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจจะทำให้กิจกรรมทางฝั่งอุปทานขยับไปทดสอบเส้น boom-bust (PMI ระดับ 50) ในเร็วๆ นี้ และจะกลายเป็นอุปสรรคของตลาดในระยะสั้น

แนวโน้มการค้าโลกยังคงไม่สดใส

เศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลกกำลังเผชิญอุปสรรคจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีชี้นำแนวโน้มการส่งออกทั้งโลกที่เราคิดว่าเชื่อถือได้ ซึ่งได้แก่ค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของการส่งออกของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง (-17.6%% yoy ในเดือนพฤศจิกายน) ในขณะที่การนำเข้าของจีนยังคงหดตัวลงอีก (-10.6% yoy) ดังนั้น เราจึงคาดว่าการส่งออกของไทยก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และจะหดตัวลงชัดเจนมากขึ้นในเดือนต่อ ๆ ไป ซึ่งจะทำให้ปัจจัยเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ชะลอตัวลงตามไปด้วย อย่างเช่น การผลิตภายในประเทศ, อัตราการใช้กำลังการผลิต และภาวะตลาดงานของแรงงานนอกภาคเกษตร เราคิดว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะแย่ลงในอีกสองสามเดือนข้างหน้า หรือจนกว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มหยุดใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น และ/หรือ หน่วยงานทางเศรษฐกิจของจีนตัดสินใจออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ขนานใหญ่ออกมา ทั้งนี้ เราคิดว่าตัวแปรที่เป็น wild card ที่เหลือคือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน

 

ปัจจัยที่อาจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการ turnaround ได้

สถานการณ์เศรษฐกิจในระดับโลกขณะนี้อาจจะดูแย่มาก แต่เราไม่คิดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักเนื่องจาก i) ตลาดงานโดยรวมของเศรษฐกิจในกลุ่ม DM ยังแข็งแกร่ง ii) หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานในอดีต และ iii) รัฐบาลของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีช่องให้ผ่อนคลายมาตรการทางการคลังลงได้อีกหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ เรายังคงเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการ turnaround ได้คือแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งจะทำให้รายได้ที่แท้จริง (real income) ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

- Advertisement -