บล.ฟิลลิป:

เอสซีบี เอกซ์ – SCB โดดเด่นด้านสินเชื่อรายย่อย

Key Point

สินเชื่อรายย่อยที่ SCB มีความเชี่ยวชาญจะได้ประโยชน์จากการจับจ่ายในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นของภาครัฐจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของสินเชื่อได้อีกทาง ประกาศจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตามประกาศของสมาคมธนาคารแล้วเป็นธนาคารแรก และการปรับโครงสร้างน่าจะทำให้มีการเติบโตได้ต่อในอนาคต ให้ราคาพื้นฐาน 145 บาท แนะนำ “ซื้อ”

สินเชื่อรายย่อยจะได้ประโยชน์จากการจับจ่าย รวมไปถึงมาตรการรัฐ

SCB มีความโดดเด่นทางด้านสินเชื่อรายย่อย โดยมีสินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 46% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่คิดเป็น 36% ของสินเชื่อทั้งหมด และมีสินเชื่อ SME คิดเป็น 18% ของสินเชื่อทั้งหมด  ซึ่งทางฝ่ายมองว่าสินเชื่อรายย่อยจะได้ประโยชน์จากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเทศกาลสิ้นปีและปีใหม่ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างโครงการชอปดีมีคืน ซึ่งจะทำให้สินเชื่อเติบโตต่อได้ในช่วงต้นปี 66 นอกจากนี้ SCB ยังถือเป็นเจ้าตลาดสินเชื่อบ้าน โดยมี market share ถึง 27.1% เมื่อเทียบกับ 7 ธนาคารที่ทางฝ่ายทำการศึกษา ซึ่งจะได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองด้วย

ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นธนาคารแรก

จากการที่สมาคมธนาคารได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มธนาคารจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น 0.4% เพื่อชดเชยการกลับมาจ่ายเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ ในอัตราเดิม ล่าสุดทาง SCB ก็ได้มาให้ข่าวว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.4% เป็นธนาคารแรก โดยทางฝ่ายคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้จะทำให้กำไรปี 66 ของ SCB ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 46 พันลบ. จากเดิมที่ทางฝ่ายคาดไว้ที่ 42 พันลบ. เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 11.2% และเพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่คาดว่าจะมีกำไร 40 พันลบ. 11.9% y-y

คาดกำไร 4Q65 เพิ่มขึ้น 27.1% y-y แต่ลดลง 2.9% q-q

ทางฝ่ายคาดว่า SCB จะมีกำไร 4Q65 10 พันลบ. เพิ่มขึ้น 27.1% y-y จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ และคาดว่าการตั้งสำรองที่ลดลงมากจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่ากำไรจะลดลง 2.9% q-q จากรายได้ดอกเบี้ยจะลดลง เนื่องจากสินเชื่อที่มีการชำระคืน และค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเข้ามามากในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปกติในช่วงนี้

ความเสี่ยง

  1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
  2. ความเสี่ยงด้านเครดิต
  3. การเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน
- Advertisement -