บล.เอเซีย พลัส:

คาด 4Q65 ขาดทุนสูงมาก หวัง 1Q65 กลับเป็นกําไรได้

คาดผลการดําเนินงานสุทธิ 4Q65 เผชิญกับผลขาดทุนสูงถึง 7.3 พันล้านบาท ย่ำแย่กว่างวดก่อนหน้าที่เป็นขาดทุนสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ถูกกดดันจากท้ังผลการดําเนินงานปกติที่เผชิญกับผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 พันล้านบาท จาก 960 ล้านบาท กดดันจากแผน shutdown โรงกลั่น 1 เดือน รวมถึงรายการพิเศษที่ในงวดนี้เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษสุทธิเพิ่มขึ้น หลักๆ มาจากขาดทุนจากสต๊อกน้ํามันรวม LCM ที่สูงถึง 5.5 พันล้านบาท ส่วนทิศทางผลการดําเนินงานปกติงวด 1Q66 คาดจะพลิกกลับมาเป็นกําไรได้ เนื่องจากไม่มีแผน shutdown รวมถึง spread ปิโตรเลียมยังอยู่ในระดับที่ดี และ spread ปิโตรเคมีเร่ิมขยับตัวจากอานิสงค์จีนกลับมาเปิดประเทศ

มูลค่าพื้นฐานส้ินปี 66 อยู่ที่ 3.6 บาท/หุ้น แม้ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาปรับฐานสะท้อนปัจจัยกระทบต่างๆ ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากงบ 4Q65 ย่ำแย่มาก แนะนําให้รอประกาศงบแล้วค่อยทยอยสะสมรับปันผลจะปลอดภัยกว่า โดยคาดจะจ่ายปันผล 2H65 ในอัตราหุ้นละ 0.04-0.06 บาทต่อหุ้น คิดเป็น DivYield ครึ่งปีราว 1.3-1.9%

ที่มา: สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

งวด 4Q65 คาดผลการดำเนินงานยังเผชิญผลขาดทุนทั้งสุทธิ และปกติ

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ผลการดำเนินงานสุทธิงวด 4Q65 เผชิญกับผลขาดทุน 7.3 พันล้านบาท ตามคาด ย่ำแย่กว่างวดก่อนหน้าที่ขาดทุนสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ถูกกดดันจากทั้งผลการดำเนินงานปกติที่ปรับตัวลดลงมีนัยฯ และรายการพิเศษที่สุทธิที่ในงวดนี้เป็นค่าใช้พิเศษที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า

โดยในส่วนของผลการดำเนินงานปกติในงวด 4Q65 คาดจะเผชิญกับผลขาดทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 2.3 พันล้านบาท จากขาดทุนปกติ 960 ล้านบาท ในงวดก่อนหน้า ถูกกดดันจากแผนหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงโรงกลั่น major turnaround ราว 1 เดือน ส่งผลให้อัตราการเดินเครื่องโรงกลั่นลดลงเหลือเพียง 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปกติที่อยู่ราว 1.9-2.0 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมถึงคาดต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 15.0 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จากค่าเฉลี่ยต้นทุนปกติราว 9-10 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนๆ หน้า ขณะที่คาด Market GIM (Gross Integrated Margin) จะทรงตัวราว 6.9 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับ 7.0 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า แบ่งเป็น spread ปิโตรเลียม (Refinery+Lube) ที่คาดจะทรงตัวอยู่ราว 5.0 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับงวดก่อนหน้าที่ 5.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล ถึงแม้ในงวดนี้จะได้รับอานิสงค์จาก crude premium ที่ปรับตัวลดลง 2.8 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จากงวดก่อนหน้ามาอยู่ที่ 5.7 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (กลุ่ม Arab Light) แต่ถูกหักล้างจากการ shutdown โรงกลั่น ทำให้ IRPC ผลิตน้ำมันเตา HSFO (High Sulfur Fuel Oil) ได้ในสัดส่วนสูงกว่าปกติ ซึ่ง spread HSFO อยู่ต่ำเพียง -22.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงทำให้ไม่ได้ประโยชน์จาก spread กลุ่ม middle distillate ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในงวด 4Q65 เช่นเดียวกับ spread ธุรกิจปิโตรเคมีที่คาดจะทรงตัวราว 1.2 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับ 1.1 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า เนื่องจากยังถูกดดันกับจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคปิโตรเคมีหลักของภูมิภาคที่ยังปิดประเทศอยู่ในงวด 4Q65 ทำให้กดดันความต้องการใช้ รวมถึง spread ธุรกิจโรงไฟฟ้าและยูทิลิตี้ ทรงตัวที่ 0.7 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า

สำหรับในส่วนของรายการพิเศษในงวด 4Q65 สุทธิแล้วในงวดนี้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษสูงถึง 5.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพิเศษสุทธิในงวดก่อนหน้าที่ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการบันทึกผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันรวม LCM เพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 5.5 พันล้านบาท จากขาดทุนสต๊อกฯ 2.2 พันล้านบาท ในงวดก่อนหน้า รวมถึงบันทึกกลับเป็นขาดทุนจาก Oil Hedging ราว 112 ล้านบาท เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรจาก oil hedging ราว 1.1 พันล้านบาท รับผลลบจาก spread น้ำมันดีเซลตลาด spot ปรับตัวเพิ่มขึ้นในงวด 4Q65 แต่เนื่องจากปริมาณที่ทำ hedging เหลือเพียง 3-4 แสนบาร์เรล ทำให้ผลกระทบจากขาดทุน hedging ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในงวด 4Q65 ได้รับปัจจัยหนุนเล็กน้อยจาก การบันทึกกลับเป็นกำไรจาก Fx 675 ล้านบาท ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้าราว 2.7 บาทต่อเหรียญฯ เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นขาดทุนจาก FX 312 ล้านบาท

โดยรวมแล้วกำไรจากการดำเนินงานปกติทั้งปี 2565 จะอยู่ราว 1.2 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ผลการดำเนินงานสุทธิทั้งปี 2565 จะเผชิญกับผลขาดทุนราว 4.5 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่เป็นกำไรสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เพราะค่าใช้พิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 4Q65 มากกว่าที่ประเมินไว้มาก

ทั้งปี 2566 คาดกำไรปกติเติบโต YOY สู่ภาวะปกติ…ผลการดำาเนินงาน 1Q66 คาดพลิกกลับเป็นกำไรได้

เบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดทิศทางผลการดำเนินงานปกติในงวด 1Q66 จะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเป็นกำไรได้ เนื่องจากการกลับมาเดินเครื่องปกติของโรงกลั่น หลังจากหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุง major turnaround ราว 1 เดือน ไปในงวด 4Q65 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเดินเครื่องโรงกลั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน จาก 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในงวดก่อนหน้า จะมีเพียงการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมประจำปีของโรงงานปิโตรเคมีเป็นปกติราว 2 สัปดาห์ 1 เดือน รวมถึงคาดต้นทุนต่อหน่วยจะลดลงสู่ระดับปกติราว 9-10 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล โดยยังหวังเห็นธุรกิจปิโตรเคมีฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน สะท้อนได้จาก spread ในเดือน ม.ค. 2565 ที่เริ่มเห็นการขยับตัวขึ้นจากงวด 4Q65 โดยเฉพาะ Polypropylene และ ABS ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกำไรที่สำคัญของ IRPC แม้ supply ใหม่ๆ ของปิโตรเคมีจะยังเข้าสู่ตลาดจำนวนมากในปี 2566 จากการ delayed การผลิตเชิงพาณิชย์ไปในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่หวังการกลับมาเปิดประเทศของจีนจะช่วยหนุนความต้องการใช้ รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ประกอบการปิโตรเคมีจะช่วยประคองราคา และ spread ปิโตรเคมีให้เห็นการฟื้นตัวจากงวด 4Q65 ได้ ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นคาด spread ปิโตรเลียม (Refinery+Lube) น่าจะเห็นการปรับตัวขึ้น เพราะ product yields น่าจะกลับสู่ภาวะปกติไม่มีแรงกดดันจากน้ำมันเตาในสัดส่วนสูงเช่นที่เกิดขึ้นในงวดก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงแล้ว ทำให้คาด Market GIM น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 11.0 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 7 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า

ส่วนภาพทั้งปี 2566 ยังคงประมาณการภายใต้สมมติฐาน Market GIM ที่ราว 12.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล และอัตราการเดินเครื่องโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.0 แสนบาร์เรลต่อวัน เพราะไม่มีแผน shutdown โรงกลั่นเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2565 ทำให้แนวโน้มกำไรปกติทั้งปี 2566 น่าจะเห็นการเติบโตสูงมาอยู่ราว 5.3 พันล้านบาท จาก 1.2 พันล้านบาท ในปี 2565

การดำเนินการด้าน ESG ของ IRPC

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) : พัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคุม และลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งบรรเทาผลกระทบ

ทั้งนี้บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายระยะสั้นด้วยการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมของบริษัทฯ ในปี 2564 ไม่เกิน 4.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนระยะยาวมีการสนับสนุนและจัดทำแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ อีกทั้งในด้านการบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อนำพลาสติกเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต (Post Industrial Recycle: PIR) และพลาสติกที่ผ่านการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Post Consumer Recycle: PCR) พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ หรือการร่วมทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของ กลุ่ม ปตท. เพื่อมุ่งสู่ระดับการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนระดับที่ 3 ที่อ้างอิงตาม British Standards Institution: Framework for implementing the principles of the circular economy in organizations – Guide (BS 8001: 2017) ภายในปี 2573

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวผ่านกิจกรรมภายใน และภายนอกองค์กร อาทิ บริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร เช่น การบริหารจัดการความเสี่ยงในการใช้น้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความตระหนักในการใช้น้ำให้กับพนักงาน การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแบ่งปันน้ำกับชุมชน

เสริมสร้างศักยภาพแก่ชุมชนทางการเกษตรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนทางการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ให้เป็นชุมชนที่มีความมั่นคงทางด้านน้ำและอาหาร ศึกษาโครงการการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Power) เป็นต้น รวมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาวของดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบริษัทฯ (Energy Intensity Index: Ell) เพื่อลดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

จัดทำและดำเนินการตามกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 จากกรณีดำเนินกิจกรรมตามปกติ ภายในปี 2573

กำหนดเป้าหมายในการดำเนินการด้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 การปลดปล่อยมลพิษอากาศ สารอินทรีย์ระเหยง่าย อัตราการระบายไฮโดรคาร์บอนจาก หอเผา และการรั่วไหลที่มีนัยสำคัญ ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการนำหลัก 3Rs มาใช้ในกระบวนการผลิต

ด้านสังคม (Social) : ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิแรงงาน ความปลอดภัย สุขอนามัย และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ควบคู่กับการบริหารและพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะใหม่ที่จำเป็นของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญขององค์กรเพื่อสร้างคุณค่าร่วม และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนและกิจกรรม อาทิ จัดสรรงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา สรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับปริญญาเอก เพื่อทํางานวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมวัฒนธรรมและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในองค์กร และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัย บุคลากรด้านการวิจัย ส่งเสริมสุขภาพและการศึกษาแก่ชุมชนรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ผ่านโครงการสร้างคุณค่าร่วมเพื่อสังคม เน้นความเป็นเลิศในการให้การศึกษาทางเทคนิคและอาชีพแก่เยาวชนผ่านวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาตามมาตรฐานสากล  สร้างกำลังพลอาชีวะทั้งในด้านปิโตรเคมีและพลังงาน และสาขาอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ

บรรษัทภิบาล (Governance) : ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายพันธสัญญา ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ และแนวปฏิบัติในระดับสากล เปิดเผยข้อมูลและผลการดำเนินงานอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยง ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง แสวงหาโอกาสให้เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และลดผลกระทบจากการดำเนินงาน ตลอดห่วงโซ่คุณค่ารวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ด้วยการสร้างระบบการบริหารงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และปราศจากกรณีทุจริตคอร์รัปชัน และการให้สินบนในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ และแสดงออกถึงจุดยืนในการไม่เข้าร่วมกับการคอร์รัปชันทุกกรณี และมีเป้าหมายให้พนักงานทุกคนต้องทำรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งการไม่มีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

ประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ

  1. การหยุดฉุกเฉินของโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี (unplanned shutdown)
  2. โครงการ UHV รวมถึงโครงการอื่นๆ ในแผน Phoenix ดําเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ไม่ได้ตามแผน
  3. ค่าการกลั่นและ Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจทําให้ประมาณการไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
- Advertisement -