บล.หยวนต้า (ประเทศไทย):
Action TRADING (Maintain)
TP upside (downside) +5.1%
Close Jan 19, 2023 Price (THB) 3.14
12M Target (THB) 3.30
Previous Target (THB) 3.40
What’s new?
- คาด 4Q65 จะขาดทุนสุทธิที่ 7.3 พันล้านบาท แย่ลง QoQ และ YoY สาเหตุหลักมาจากแผนปิดซ่อมบำรุง ทําให้อัตราการกลั่นลดลง, สัดส่วนการผลิตเปลี่ยนแปลง, การเก็บสต็อกรองรับทำให้เกิดขาดทุนสินค้าคงคลังจํานวนมาก, ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของ Spread ปิโตรเคมี
- ปรับประมาณการปี 2565-2566 เป็นขาดทุน 4.5 พันล้านบาท และกำไร 3.0 พันล้านบาท
Our view
- การผ่อนปรนมาตรการควบคุมของจีน และเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ปิโตรเคมีฟื้นตัวเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ค่าย Margin PP ABS ยังอ่อนแอ กดดันจากภาวะ Oversupply เพราะจะมีกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
- ราคาเหมาะสมใหม่ 3.30 บาท มองว่ายังไม่ต้องรีบเข้าลงทุน เพราะงบ 4Q65 อ่อนแอ, ประมาณการของตลาดมี Downside, เงินปันผลงวด 2H65 มีความไม่แน่นอน, การฟื้นตัวของ PP ABS ช้ากว่าคู่แข่ง
IRPC คาด 4Q65 ขาดทุนสูง
ปิดซ่อมบำรุงใหญ่กดดัน 4Q65 อ่อนแอกว่ามุมมองก่อนหน้า
สำหรับ 4Q65 แม้ Crack Spread น้ำมันดีเซลจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และต้นทุนน้ำมัน Crude Premium จะลดลง รวมทั้งได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ทำให้มีกำไร FX ราว 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เราคาดผลประกอบการ 4Q65 จะขาดทุนสุทธิสูง 7.3 พันล้านบาท (ขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านบาทใน 3Q65 และพลิกจากกำไร 2.2 พันล้านบาทใน 4Q64) อ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า ปัจจัยกดดันมาจาก 1) ขาดทุนสต็อกน้ำมันสูง 6.7 พันล้านบาท ซึ่งแย่กว่าภาวะปกติเพราะบริษัทฯ มีการเก็บสินค้าคงคลังจำนวนมากในช่วงปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่น 2) Market GIM คาดทำได้เพียง US$7.3/bbl โดย Crack Margin น้ำมันสำเร็จรูปที่ดีขึ้น ถูกหักล้างด้วยการปิดซ่อมหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (RDCC) 4 วัน ทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำ (FO) เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของ Spread ปิโตรเคมี โดยเฉพาะ PP ABS 3) อัตราการกลั่นคาดเหลือ 120kbd (เทียบกับระดับปกติ 190-200kbd) จากการปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่น 1 เดือน 4) ต้นทุนผลิตคาดเพิ่มขึ้นเป็น US$15/bbl จากระดับปกติ US$10-11/bbl
ปรับลดประมาณการปี 2565 เป็นขาดทุน
ทิศทางงบ 4Q65 มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า เราปรับลดประมาณการปี 2565 ลงเป็นขาดทุนสุทธิ 4.5 พันล้านบาท (จากเดิมกำไรสุทธิ 2.5 พันล้านบาท) โดยปรับสมมติฐานหลักได้แก่ 1) ปรับกำไรสต็อกน้ำมันเหลือ US$0.5/bbl หรือ 1.1 พันล้านบาท (จากเดิม US$2.9/bbl หรือ 6.5 พันล้านบาท) 2) ปรับลดค่าการกลั่นเป็น US$8.0/bbl (เดิม US$8.8/bbl) นอกจากนี้ เรายังเพิ่มความระมัดระวังในปี 2566 โดยปรับลดสมมติฐาน Market GIM เหลือ US$11/bbl (จากเดิม US$11.6/bbl) ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลดลง 15% มาอยู่ที่ 3.0 พันล้านบาท
การฟื้นตัวถูกถ่วงด้วยภาวะอุปทานล้นตลาด
การผ่อนปรนมาตรการควบคุมของจีน และเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณดีขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นปัจจัยกระตุ้นการฟื้นตัวของความต้องการใช้ปิโตรเคมีให้เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมองที่ระมัดระวังต่ออัตรากำไรของปิโตรเคมีกลุ่ม PP ABS ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ IRPC เนื่องจากเชื่อว่าอัตรากำไรจะถูกกดดันด้วยภาวะ Oversupply จากกำลังผลิตใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก อ้างอิงข้อมูล ของ IHS ปี 2566 – 2567 จะมีกำลังผลิตใหม่ PP เข้าสู่ตลาด 8.7 ล้านตัน และ 7.2 ล้านตัน ตามลำดับ เทียบกับการเติบโตของอุปสงค์ระดับ 3.4 – 3.5 ล้านตัน ขณะที่ ABS จะมีอุปทานใหม่ 2.4 ล้านตัน และ 0.9 ล้านตัน ตามลำดับ เทียบกับการเติบโตของความต้องการใช้ระดับ 0.5 ล้านตัน
รอเห็น Catalyst บวก…ระยะสั้นยังไม่ต้องรีบเข้าลงทุน
ปรับราคาเหมาะสมลงเป็น 3.30 บาท (จากเดิม 3.40 บาท) อ้างอิง PBV ที่ 0.8 เท่า Discount จากค่าเฉลี่ย 10 ปี -1.0 SD คงคำแนะนำ TRADING อย่างไรก็ตาม เรามองว่ายังไม่ต้องรีบเข้าลงทุน เนื่องจาก 1) ผลประกอบการ 4Q65 อ่อนแอ ทำให้ประมาณการของตลาดมี Downside 2) เงินปันผลงวด 2H65 มีความไม่แน่นอน (อาจลดลง HoH หรือไม่มี) 3) การฟื้นตัวของ Spread ปิโตรเคมีกลุ่ม PP และ ABS (ผลิตภัณฑ์หลัก) จะใช้เวลานานกว่าคู่แข่งในกลุ่ม PE เพราะมีอุปทานใหม่เตรียมเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก (บริษัทฯ จะรายงานผลประกอบการวันที่ 7 ก.พ.)