บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – สะดุดระยะสั้น แต่ภาพปี 2023 ยังแข็งแกร่ง (POSITIVE)

ผลประกอบการกลุ่มธนาคารใน 4Q22 รายงานออกมาน่าผิดหวัง โดยสาเหตุสำคัญมาจาก ECL ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าผลประกอบการกลุ่มธนาคารจะกลับมามีแนวโน้มฟื้นตัวดีในปี 2023 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรจะเริ่มเร่งตัวขึ้นทั้ง qoq และ yoy ตั้งแต่ 1Q23 เป็นต้นไป เราคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่  OW จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เราเลือก SCB (160 บาท) และ BBL (180 บาท) เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มนี้

ผลประกอบการอ่อนแอถูกกดดันจากปัจจัยเฉพาะของธนาคาร

กำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารใน 4Q22 รายงานที่ 3.17 หมื่นล้านบาท ลดลง 25% qoq และ 6% yoy ต่ำกว่าประมาณการของเรา 18% และต่ำกว่า consensus 25% โดยสาเหตุสำคัญมาจาก ECL ที่สูงกว่าคาด โดยเฉพาะจาก KBANK หลังจากที่ธนาคารใช้กลยุทธ์การจัดการ NPL เชิงรุก ซึ่งรวมถึงการขายและ write-of NPL ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ KBANK ออกมาแย่ที่สุดในกลุ่ม โดยกำไรลดลงอย่างมากทั้ง qoq และ yoy จาก ECL ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ ผลประกอบการของ TTB ออกมาดีที่สุดในกลุ่ม โดยกำไรเร่งตัวขึ้นทั้ง qoq และ yoy จาก NIM ที่เพิ่มขึ้น

 

NIM และคุณภาพสินทรัพย์มีพัฒนาการเชิงบวก

ถึงแม้ว่ากำไรรวมของกลุ่มธนาคารใน 4Q22 จะออกมาน่าผิดหวัง แต่เรายังพบว่าบางด้านของงบการเงินยังมีพัฒนาการในทางบวก อย่างเช่น NIM ที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 30bps จากระดับเฉลี่ยที่ 3.13% ใน 1Q22 เป็น 3.46% ใน 4Q22 หลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามครั้งในปี 2022 ในขณะเดียวกัน สัดส่วน  NPL ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดของค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 3.5% ใน 2Q20 เหลือ 2.95% ใน 4Q22 เราเชื่อว่า ECL ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของ KBANK เป็นปัจจัยเฉพาะของธนาคาร ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลูกโซ่ล่ามไปทั้งกลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของ KBANK มีความเสี่ยงสูงกว่าธนาคารอื่น  ๆ อย่างชัดเจนเพราะมีการปล่อยกู้ SMEs สูงกว่าโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30%  ดังนั้น KBANK จึงอาจจะต้องใช้เวลาในการบริการจัดการนานกว่าหรือลูกค้าอาจจะต้องการเวลาที่นานขึ้นในการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โรคระบาดผ่านไป

 

กลุ่มธนาคารจะได้แรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นชัดเจนมากขึ้น

การที่ ECL ทะยอยลดลงกลับสู่ระดับปกติเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของกำไรกลุ่มธนาคารในสองปีที่ผ่านมา แต่สำหรับในระยะต่อไป เราประเมินว่า NIM จะรับบทสำคัญในการขับเคลื่อนกำไรในปี 2023 โดยเฉพาะหลัง ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วสามครั้งจาก 0.50% เป็น 1.25% ใน 2H22 เราคาดว่า ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกสองครั้งจบที่ 1.75% ภายในสิ้นปีนี้ โดยสี่ธนาคารใหญ่ ซึ่งได้แก่ BBL, KBANK, KTB และ SCB จะเป็นกลุ่มหลักที่ได้อานิสงส์บวกจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะมีการปล่อยกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัวในระดับสูง และมีโครงสร้างเงินฝากต้นทุนต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชี CASA เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งประมาณ 27% ในปี 2023 จากภาวะที่สนับสนุนทั้งจากเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ overweight โดยเลือก SCB และ BBL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม

- Advertisement -