บล.หยวนต้า (ประเทศไทย): 

Action BUY (Maintain)

TP upside (downside) +20.6%

Close Jan 24, 2023 Price 70.50

12M Target 85.00

KIATNAKIN PHATRA BANK (KKP) แม้ NIM ไม่สูงเท่าปีก่อน แต่สินเชื่อยังมีแนวโน้มโตเด่น

Event

วานนี้ KKP จัดประชุมนักวิเคราะห์ โดยเราสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • สำหรับปี 2566 ผู้บริหารตั้งเป้าหมายทางการเงินดังนี้ คือ Loan Growth คาดโต 13%YoY ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 16%YoY หลังเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ในลูกค้าบางกลุ่ม ทำให้บริษัทต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์มือสอง ส่วนรถยนต์มือหนึ่งมีการแข่งขันที่สูงขึ้น สำหรับสินเชื่อที่จะโตดีในปีนี้ คือ สินเชื่อจำนำทะเบียน แบรนด์ “รถ เรียก เงิน” ที่บริษัทสามารถต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมของบริษัทได้ (มองเป็น New-S curve ของกลุ่มเป้าระยะยาวที่ 30% ของพอร์ต) รวมถึงสินเชื่อในกลุ่มอื่นๆ เช่น บริษัทและ SME ที่จะมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  • Loan Spread คาดลดลงจาก 5.4% ในปี 2565 เหลือ 5% สะท้อน NIM ที่ปรับตัวลง จากผลของเงินอัตราส่วนเงินนำส่ง FIDF และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับขึ้น ขณะที่บริษัทเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อทั้งมือหนึ่งและมือสอง เพื่อบรรเทาผลกระทบ (ตั้งแต่ต้นปี มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยรถใหม่ 30-35 bps และรถยนต์มือสอง 20-25 bps) ซึ่งจะทยอยรับรู้ผลบวกในอนาคต (มีผลกับสัญญาเช่าซื้อใหม่)
  • NPL คาดปรับลดลงจาก 3.3% ใน 2565 เหลือ 3.1% เนื่องจาก NPL ส่วนใหญ่ที่สูงขึ้นใน 4Q65 มาจากลูกค้ากลุ่มอสังหาฯ ที่มีคุณภาพหลักประกันสูง และมูลค่าเกินมูลหนี้ ทำให้คาดสามารถเจรจาแก้หนี้ได้ไม่ยาก อีกส่วนคือลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งและมือสองที่บริษัทเข้าไปทำตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มความระมัดระวังขึ้นแล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ทำให้คาดหนี้เสียที่จะไหลตกชั้นจะน้อยลง
  • การตั้งสำรองรวมขาดทุนจากการขายรถยึด คาดปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.2% จาก 2.1% ใน 2565 หลักๆ มาจากราคารถยนต์มือสองที่ต่ำลงหลัง พรบ. เช่าซื้อฉบับใหม่
  • สำหรับ Transaction Tax คาดธุรกิจนายหน้าหลักทรัพย์จะกระทบจำกัด โดยธุรกิจในฝั่งลูกค้าสถาบัน, ต่างชาติ และลูกค้ารายย่อยไม่ได้เน้นธุรกรรม Trading มากนัก แต่จะมีผลกระทบกับธุรกิจฝั่ง Robot Trade ซึ่งกระทบกับกำไรบริษัทไม่มาก
  • ผู้บริหารมอง Virtual bank ยังไม่จำเป็นสำหรับธนาคารที่มีไลเซนอยู่แล้ว นอกจากต้องการจะ JV กับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติม เพราะมองว่าใช้เงินลงทุนมากเกินไป และมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้สูง ส่วน KKP DIME จะเน้นพัฒนาและต่อยอดฐานลูกค้าบนช่องทาง Digital ต่อเนื่องด้วยไลเซนของ KKP ได้เลย

Our Take

  • เรามีมุมมองเป็นกลาง หลังจบการประชุมนักวิเคราะห์ จากการตั้งสำรองที่ยังทรงตัวในระดับสูง แต่คาดด้วยการเร่งขยายสินเชื่อใหม่ทั้งในกลุ่มของธุรกิจเช่าซื้อเดิม และธุรกิจจำนำทะเบียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนผลดำเนินงานในปี 2566 ขณะที่ NIM คาดปรับลงในปี 2566 จากต้นทุนทางการเงินที่เร่งตัวขึ้นเร็ว ก่อนที่จะเริ่มขยับขึ้นในปี 2567 ตามสัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่ม High Yield ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับธุรกิจตลาดทุนที่ยังแข็งแกร่ง หนุนให้คาด KKP จะมีกำไรปกติในปี 2566 จํานวน 9,322 ลบ. โต 12.2%YoY ตามประมาณการเดิม
  • เรายังชอบ KKP จากแนวโน้มการเติบโตของพอร์ตที่เด่นกว่าธนาคารอื่น และความแข็งแกร่งของธุรกิจฝั่งตลาดทุนที่เหนือกว่าคู่แข่ง ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 20.6% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2566 ที่ 85 บาท (อิง Prospective PBV ที่ 1.1x) และคาดมีปันผลจากกำไร 2H65 หุ้นละ 1.80 บาท คิดเป็น Div.Yield ราว 2.6% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
- Advertisement -