บล.เอเซีย พลัส:
ชนะประมูลโรงไฟฟ้าที่ชัยนาท เพิ่ม FV 0.3 บาท/หุ้น
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565 TGE ประกาศได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุน และดําเนินการโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบเทศบาลตําบลหนองมะโมง อําเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท (โครงการ TES CNT) กําลังการผลิตติดตั้ง 8.0 เมกะ วัตต์ และปริมาณไฟฟ้าที่จะเสนอขาย (PPA) 6.0 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่มขายไฟฟ้า และรับรู้รายได้กําจัดขยะในช่วง 1Q68 ได้ราว 150 ล้านบาทในช่วงต้น และ 117 ล้านบาท หลัง FiT Premium หมดลง คิดเป็นมูลค่าโครงการ 0.3 บาท/หุ้น
ปรับปรุงสมมติฐาน WACC เฉลี่ยของ TGE ขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% จากเดิม 4.7% เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมในกลุ่มโรงไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยงขาขึ้น ส่งผลให้ FV ใหม่ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2.8 บาท/หุ้น (เดิม 3.1 บาท/หุ้น) โดยรวมมูลค่าโครงการ TES CNT ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาพกําไรในปีหน้ายังไม่เห็นปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อน คงต้องรอโครงการใหม่ที่จะเร่ิมทยอย COD หลังปี 2567 เป็นต้นไป จึงแนะนําหาจังหวะทยอยเข้าสะสมลงทุนสําหรับการลงทุนในระยะยาว
ชนะคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนชัยนาท 6.0 MW PPA
TGE ประกาศว่าบริษัทย่อย TES CNT (TGE ถือหุ้น 99.9%) เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน เทศบาลตำบลหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ภายใต้รูปแบบการดำเนินโครงการที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการเองทั้งหมด (Build Own and Operate: BOO) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 ปี นับจากมีการเซ็นสัญญาบริหารจัดการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งคาดจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 8.0 เมกะวัตต์ และกำลังปริมาณไฟฟ้าที่จะเสนอขาย (PPA) 6.0 เมกะวัตต์
ประเด็นดังกล่าวถือเป็นมุมมองเชิงบวกต่อ TGE ที่จะช่วยต่อยอดกำลังการผลิตติดตั้งให้เติบโตไปสู่แผนระยะยาว 100 เมกะวัตต์ในปี 2570 ซึ่งหากนับรวมโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้ปัจจุบัน กำลังการผลิตที่มีในมือของ TGE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 69.6 เมกะวัตต์ จากเดิม 61.6 เมกะวัตต์ โดยประกอบด้วยโครงการที่ COD แล้ว 29.7 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 39.9 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดจะทยอย COD ในปี 2567 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CNT ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานเงินลงทุนโครงการอยู่ที่ราว 1.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็น CAPEX/MW ที่ 125 ล้านบาท ซึ่งอิงจากต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ TGE เป็นผู้ชนะประมูลในอดีตที่ผ่านมา โดยกำหนดสัดส่วน D/E โครงการที่ 75/25 อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ด้วยรูปแบบ Feed- in Tariff พิเศษ (ได้รับ FiT Premium 0.7 บาท/KWh เป็นเวลา 8 ปีแรกนับจาก COD) อัตราค่าไฟฟ้าราว 5.8 บาท/หน่วยในช่วงต้น และเหลือราว 5.1-5.2 บาท/หน่วย หลังครบกำหนด 8 ปีแรก โดยคาดจะเริ่ม COD ได้ในช่วง 1Q68 โดยโครงการดังกล่าว TGE จะเป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะชุมชนให้แก่ บริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลหนองมะโมง เบื้องต้นกำหนดสมมติฐานปริมาณขยะขั้นต่ำที่ต้องกำจัดอยู่ที่ 400 ตัน/วัน และผลตอบแทนเป็นค่า กำจัดขยะอยู่ที่ 300 บาท/ตัน โดยจะเริ่มรับรู้รายได้กำจัดขยะตั้งแต่เริ่ม COD ซึ่งคาดจะช่วยให้ TGE รับรู้กำไรจากการขายไฟฟ้าและรับกำจัดขยะเฉลี่ยราว 150 ล้านบาทในช่วง 8 ปีแรก และราว 117 ล้านบาท หลังจาก FiT Premium หมดลง คิดเป็น EIRR ราว 20% โดยประเมินมูลค่าโครงการฯ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 0.3 บาท/หุ้น
ปรับปรุงสมมติฐาน FV ใหม่อยู่ที่ 2.8 บ./หุ้น (ภายใต้ WACC ใหม่ 5.5%)
เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างก่อสร้างพัฒนา และคาดจะเริ่ม COD ในช่วงปี 2568 เบื้องต้นฝ่ายวิจัยจึงยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2565-66 ไว้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับปรุงมูลค่าพื้นฐานใหม่ ณ สิ้นปี 2566 ของ TGE ดังนี้
1) ปรับเพิ่มสมมติฐาน WACC เฉลี่ยของ TGE เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% จากเดิม 4.7% เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมในกลุ่มโรงไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในทิศทางขาขึ้น
2) รวมโครงการ TES CNT ที่ชนะประมูลใหม่มูลค่า 0.3 บาทต่อหุ้น ไว้ในประมาณการ
ส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานใหม่ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2.8 บาท/หุ้น (เดิม 3.1 บาท/หุ้น) ราคาหุ้นปัจจุบันยังเห็น upside สูง อย่างไรก็ตาม ภาพกำไรในช่วง 1 ปีข้างหน้ายังไม่เห็นปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนกำไรให้เติบโตขึ้น คงต้องรอโครงการใหม่ที่จะเริ่ม COD หลังปี 2567 เป็นต้นไป จึงแนะนำหาจังหวะทยอยเข้าสะสมลงทุนสำหรับการลงทุนในระยะยาว
แนวทางประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (ESG) ของ TGE:
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) : มุ่งดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแสวงหาแนวทางการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ตลอดจนการป้องกันมลพิษ รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม โดยบริษัทเลือกใช้เครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยกำหนดมาตรฐานตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมทั้งแสวงหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนด ทั้งนี้ บริษัทได้มีการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับบริษัท ท่าฉาง สวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการขยะและกากของเสียอุตสาหกรรม ด้วยการคัดแยกขยะมูลฝอยที่เกิดจากการดำเนินงานต่างๆ ภายในโรงงานตามที่กำหนดในประกาศกรมควบคุมมลพิษ
ด้านสังคม (Social) : มุ่งสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมและชุมชน พัฒนาทักษะและศักยภาพของพนักงานเพื่อสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคม รวมถึงสร้างงานสร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูแลและปฏิบัติต่อพนักงาน และบุคลากรในชุมชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติเพศสภาพ หรือประการอื่นใด เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีตระหนักถึงความปลอดภัยในการดำเนินงาน อาชีวอนามัยใน พนักงานผู้รับเหมาและชุมชนโดยรอบสถานประกอบการมีการดูแล และพัฒนาพนักงาน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และกิจกรรมเพื่อการสังคม
ธรรมาภิบาล (Governance) : กลุ่มบริษัทแสวงหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกกระบวนการทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ดี รวมทั้งนโยบายระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของหน่วยงาน และของบริษัทที่เกี่ยวข้องยึดถือหลักคุณธรรมและโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการและมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้และเป็นไปตามมาตรฐานสากลยึดถือปฏิบัติ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียตลอด ห่วงโซ่ธุรกิจให้มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน กิจกรรมด้านการ พัฒนาเศรษฐกิจตามหลักธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคม